ตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถือกำเนิดมาเป็นเวลา 45 ปี นักลงทุนไทยต่างเผชิญทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ดีและร้ายเข้ามาโดยตลอด และมีหลายครั้งที่ตลาดหุ้นไทยดิ่งลงอย่างหนักจากวิกฤตเศรษฐที่มาจากทั้งในและต่างประเทศ
"สำนักข่าวอีไฟแนนซ์" ได้รวบรวมเหตุการณ์สำคัญ ที่ถือว่าเป็นวิกฤติต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทย และกดดันให้ดัชนีตลาดให้ปรับตัวลดลงอย่างหนัก พร้อมทั้งให้เห็นว่ากว่าตลาดหุ้นไทยจะผ่านพ้นวิกฤติและกลับมาอยู่ในจุดเดิมได้ในแต่ละครั้งต้องใช้เวลามากน้อยแค่ไหน
*** สงครามอ่าวเปอร์เซีย ปี 2533
หลังจากตลาดหุ้นไทยถือกำเนิดได้ประมาณ 25 ปี ก็ได้เผชิญกับวิกฤตสงครามครั้งใหญ่ในปี 2533 จากเหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง หลังจากอิรักนำกองกำลังทหารเข้ายึดคูเวตในวันที่ 2 ส.ค.2533 ส่งผลให้สหประชาชาติต้องยื่นมือเข้ามายุติสถานการณ์ในครั้ง เหตุการณ์ดังกล่าวเรียกันติดปากว่า "สงครามอ่าวเปอร์เซีย"
สงครามครั้งนี้กินเวลาประมาณ 6 เดือน โดยตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค.2533 ดัชนีหุ้นไทยอยู่ที่ระดับ 1,129.36 จุด ก่อนจะเกิดแรงทขายจากความกังวลจนดัชนีลงไปต่ำสุดที่ระดับ 544.30 จุด ในวันที่ 30 พ.ย.2533 และใช้เวลาเกือบ 3 ปี จนกว่าดัชนีจะกลับมาอยู่ที่ระดับเดียวกับวันแรกที่เกิดเหตุการณ์ โดยวันที่ดัชนีกลับมาแตะระดับ 1129 จุดอีกครั้ง คือวันที่ 12 ต.ค.2536
*** ต้มยำกุ้ง ปี 2540
นับเป็นวิกฤติการเงินครั้งใหญ่อีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของโลก และมีต้นตอมาจากนโยบายเศรษฐกิจของไทย ที่ลอยตัวค่าเงินบาทในปี 2540 แต่หากจะเริ่มนับจุดเริ่มต้นของวิกฤติการเงินครั้งนี้ อาจจะต้องย้อนหลังจากปี 2540 ไปประมาณ 3 ปี คือในปี 2537 ที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยขึ้นไปทำจุดสูงสุดในช่วงนั้นถึง 1,789.16 จุด ในวันที่ 5 ม.ค.2537 เนื่องจากก่อนหน้านั้นดัชนีที่ปรับขึ้นมาอย่างร้อนแรง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาวะฟองสบู่ในตลาดการเงิน ทั้งการเปิดเสรีการเงิน การปล่อยกู้ให้กับกลุ่มไม่มีหลักทรัพย์และเพื่อการเก็งกำไร
ตลาดหุ้นไทยหลังจากขึ้นไปแตะระดับ 1,789 จุด ในต้นปี 2537 จากนั้นก็เผชิญกับแรงขายออกมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงฟางเส้นสุดกับการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในวันที่ 2 ก.ค.2540 ทำให้เศรษฐกิจไทยที่เป็นฟองสบู่ แตกกระจายในทันที จากนั้นแรงขายในตลาดหุ้นถูกกระหน่ำเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จนดัชนีลงมาต่ำสุดที่ 204.59 จุด ในวันที่ 4 ก.ย.2541 หรือดัชนีลดลงไปถึง 88% ภายในเวลาไม่ถึง 4 ปี
และจากวิกฤติการเงินครั้งประวัติศาสตร์ครั้งนี้ ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง ที่เข้ามากระทบตลาดหุ้นไทยอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยกว่าจะกลับมาที่ 1,789 จุด ได้อีกครั้ง ต้องกินเวลายาวนานถึง 24 ปี
*** ก่อการร้าย 911 ปี 2544
หลังจากเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังลูกผีลูกคนจากผลกระทบของวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 นั้น 4 ปีถัดมา ได้เกิดเหตุการณ์ช็อคโลกอีกครั้ง ในวันที่ 11 ก.ย.2544 หลังจากผู้ก่อการร้ายกลุ่มอัลกออิดะฮ์ได้จี้เครื่องบิน 4 ลำ พุ่งชนสถานที่สำคัญของสหรัฐอเมริกา โดย 2 ลำพุ่งชนตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในนิวยอร์ก อีก 1 ลำพุ่งชนาคารเพนตากอน ส่วนอีก 1 ลำ พุ่งชนอาคารรัฐสภาหรือไม่ก็ทำเนียบขาวแต่ไม่สำเร็จ เหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้สูญเสียชีวิตเกือบ 3,000 คน ได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 6,000 คน
เหตุการณ์ในวันนั้นส่งผลให้เกิดแรงขายในตลาดหุ้นไทยออกมาเช่นเดียวกันกับตลาดหุ้นทั่วโลก โดยดัชนีหุ้นไทยลงจากวันที่ 11 ก.ย.44 จาก 333.12 จุดมาทำจุดต่ำสุดในวันที่ 8 พ.ย.2544 ที่ระดับ 265.13 จุด หรือลดลงประมาณ 20% ก่อนที่จะเริ่มมีแรงซื้อกลับหลังจากคลายความกังวล จนดัชนีกลับมาอยู่ที่ระดับ 333 จุดอีกครั้งในวันที่ 24 ม.ค.2545 หรือใช้เวลาเพียง 4 เดือนเศษเท่านั้น
*** วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2551
11 ปีให้หลังจากวิกฤติต้มยำกุ้ง ได้เกิดวิกฤติการเงินครั้งใหม่อีกครั้งในตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ จากภาวะฟองสบู่ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่แตกออกมา จากมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของสหรัฐฯ ที่หละหลวม ส่งผลให้ปี 2549-2550 เริ่มเห็นการผิดนัดชำระหนี้และการยึดทรัพย์ในสหรัฐฯพุ่งสูงขึ้นแบบมีนัยสำคัญ
วิกฤติการเงินครั้งนี้สร้างความเสียหายให้กับสถาบันการเงินอย่างมาก โดยในเดือนส.ค.2551 พบว่า สถาบันการเงินทั่วโลกมียอดขาดทุนและการลดค่าทางบัญชีที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อซับไพรม์เกินกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่กำไรของธนาคารสหรัฐ 8,533 แห่ง ลดลงจาก 3.52 หมื่นล้านดอลลาร์ในไตรมาสที่ 4 ปี 2549 เหลือเพียง 646 ล้านดอลลาร์ ในไตรมาสเดียวกันของปี 2550
ตลาดหุ้นไทยในช่วงเกิดวิกฤติครั้งนี้ ขึ้นไปทำจุดสูงสุดในปี 2550 ที่ระดับ 924.70 จุด ในวันที่ 1 พ.ย.2550 ก่อนที่ดัชนีลงดิ่งมาที่ 380.05 จุด ในวันที่ 26 พ.ย.2551 หรือลดลงเกือบ 60% ในเวลาเพียง 1 ปี ขณะที่การกลับมาของดัชนีในครั้งนี้ใช้เวลาเกือบ 3 ปี คือในวันที่ 1 ก.ย.2553
*** มหาอุทกภัย ปี 2554
ตลาดหุ้นไทยที่กำลังฟื้นตัวอย่างร้อนแรงในปี 2552 -2553 หลังจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เริ่มคลี่คลาย ต้องกลับมาชะงักอีกครั้งจากปัจจัยในประเทศ นั่นคือ ภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ นั่นคือเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2554 ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนก.ค.-พ.ย.2554 กินพื้นที่ 65 จังหวัด รวมถึงกรุงเทพมหานคร สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง 1.44 ล้านล้านบาท (ประเมินจากธนาคารโลก)
ในปี 2554 ตลาดหุ้นไทยมาทำจุดสูงสุดที่ 1,148.28 จุด ในวันที่ 1 ส.ค.2554 ซึ่งเป็นช่วงแรกที่ภัยพิบัติเริ่มขึ้น แต่เมื่อสถานการณ์น้ำเริ่มสร้างความเสียหายให้กับหลายพื้นที่ภาคกลางโดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมภาคกลาง ทำให้นักลงทุนเริ่มเทขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่องจนมาทำระดับต่ำสุดที่ 843.69 จุด ในวันที่ 4 ต.ค. 2554 หรือลดลงไปประมาณ 26% ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นมาที่ระดับเดิมในวันที่ 27 ก.พ.2555
*** โควิด19 ปี 2563
หากไม่นับวิกฤติการณ์ทางการเมือง ตลาดหุ้นไทยในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา แทบจะไม่เจอกับวิกฤติการเงินครั้งใหญ่ จนมาในปีนี้ (2563) วิกฤติครั้งสำคัญและจะเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ที่โลกต้องจารึกไว้ นั้นคือการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ หรือ โควิด-19 วิกฤติครั้งนี้เริ่มขึ้นเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2562 ที่มณฑลอู่ฮั่น ประเทศจีน รายงานว่าพบเชื้อไวรัสสายพันธ์ที่ไม่มียารักษา จากนั้นเพียงไม่กี่เดือน ไวรัสโควิด-19 ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลก จนล่าสุดมีผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ทั่วโลกแล้ว 5.7 ล้านคน เสียชีวิต 3.52 แสนคน
จนขณะนี้ยังไม่มียารักษา หรือวัคซีนที่จะมาป้องกันไวรัสชนิดนี้ ซึ่งการระบาดครั้งนี้ได้ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกต้องหยุดชะงักลงอย่างเลี่ยงไม่ได้ และยังไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกครั้งนี้จะมีมูลค่ามหาศาลมากน้อยเพียงใด
สำหรับหุ้นไทยหากจะนับตั้งแต่เริ่มพบเชื่อไวรัสในช่วงต้นเดือนธ.ค.2562 ดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 1,589.34 จุด ในวันที่ 2 ธ.ค.2562 ก่อนที่จะเผชิญแรงขายออกมาแบบข้ามปี และมาทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 969.08 จุด ในวันที่ 13 มี.ค.2563 หรือลดลงมาถึง 40% แต่อย่างไรก็ตามหลังจากเข้าเดือนเม.ย.2563 ตลาดหุ้นไทยกลับเริ่มมีแรงซื้อกลับหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้ ทำให้ ณ วันที่ 27 พ.ค.2563 ดัชนีมาอยู่ที่ระดับ 1,345 จุด หรือฟื้นกลับมาจากจุดต่ำสุดแล้วประมาณ 38%
ขณะที่นักวิเคราะห์ได้ประเมินไว้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และการเริ่มเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายประเทศ จะเป็นปัจจัยบวกต่อภาพรวมตลาดหุ้นทั่วโลก ขณะที่ตลาดหุ้นแม้ว่าการฟื้นในรอบนี้อาจจะยังไม่กลับไปถึงระบกับ 1,500-1,600 จุด ที่ลงมาจากปี 2562 แต่ก็มีแนวต้านสำคัญที่มีโอกาสขึ้นไปทดสอบได้ที่ระดับ 1,400 จุด
0 Response to "SET ใช้เวลาฟื้นนานแค่ไหน ในแต่ละวิกฤต - efinanceThai"
Post a Comment