การขายหุ้น CBG ของผู้ถือหุ้นใหญ่ "เสถียร เศรษฐสิทธิ์"ออกมาครั้งแรก ทำให้นักลงทุนตกใจขายหุ้นจนดิ่งหนักสวนตลาด เพียงแต่ว่าการขายหุ้นของ CBG ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะนอกจากสัดส่วนที่่ขายจะต่ำมากแล้ว ยังนำเงินจำนวนนี้ไปลงทุนกับบริษัทจัดจำหน่าย"คาราบาวแดง"ในจีน ซึ่งเป็นตลาดที่มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นหลังฟื้นตัวจากโควิด-19 แต่สิ่งที่น่ากังวลก็คือ ราคาหุ้นที่แม้จะปรับลงมาแล้วก็ถือว่ายังสูงมากอยู่ดี!
*** "เสถียร เศรษฐสิทธิ์" ขายหุ้น CBG ครั้งแรกตั้งแต่เข้าตลาดปี 57
ราคาหุ้นของ บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG วันทำการล่าสุด(27พ.ค.63) เปิดดิ่งหนักสวนตลาดในทันที โดยที่ระหว่างวันลงไปทำจุดต่ำสุดถึง 95 บาท ก่อนที่จะมาปิดตลาดไปที่ 95.50 บาท ลดลง 4.50 บาท หรือ -4.50% ปริมาณหุ้นที่ซื้อขายเพิ่มขึ้นถึง 343.65% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 5 วันทำการก่อนหน้า
สาเหตุที่ทำให้เป็นเช่นนี้ ก็คือ การขายหุ้นรายการใหญ่(Big Lot)ของ นายเสถียร เศรษฐสิทธิ์ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ CBG ออกมา 2.25% หรือจำนวน 22.5 ล้านหุ้นให้แก่กลุ่มนักลงทุนในประเทศ และ/หรือต่างประเทศ ด้วยราคาขาย 95 บาท ต่ำกว่าราคาปิดทำการวันก่อนหน้า ทำให้สัดส่วนถือหุ้นรวมทั้งทางตรงและทางอ้อมลดลงจาก 34.37% มาอยู่ที่ 32.12%
สิ่งที่ทำให้นักลงทุนไม่พอใจนัก นอกจากราคาขายที่ต่ำกว่าตลาดแล้ว นี่คือ การขายหุ้นออกมาครั้งแรกของ "เสถียร เศรษฐสิทธิ์" นับตั้งแต่ CBG เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ(SET)เมื่อปี 2557 อีกด้วย และอย่างที่ทราบกันดีว่า การขายหุ้นของผู้บริหารของบริษัทอื่นๆ ในตลาดหุ้นไทย ส่วนใหญ่มักจะจบไม่สวยนักในภายหลัง
แต่กรณี CBG ไม่ได้น่ากังวลอย่างที่คิด!
*** นำเงินลงทุนบริษัทจัดจำหน่าย "คาราบาวแดง"ในจีน ที่คำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น
มีเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้นที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ขาย Big Lot แล้วแสดงเจตจำนงว่าจะนำเงินไปใช้ในด้านใด ซึ่ง CBG เป็นเช่นนั้น !
เพราะบริษัทชี้แจงว่า "เสถียร เศรษฐสิทธิ์" จะนำเงินจากการขายหุ้น "ส่วนใหญ่" ไปใช้เป็นเงินทุนสำหรับประกอบธุรกิจร่วมทุนในประเทศจีนที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจการตลาด ขาย และจัดจำหน่ายเครื่องดื่มบำรุงกำลังและเครื่องดื่มอื่นภายใต้เครื่องหมายการค้าคาราบาวในประเทศจีน
ซึ่งก็สอดคล้องกับแผนการขยายตลาดในประเทศจีนของ CBG โดยที่ บริษัทหลักทรัพย์(บล.)เคทีบี คาดรายได้จากประเทศจีนปีนี้จะเติบโตถึง 20 - 50% หลังจีนกลับมาเปิดประเทศ
สรุปแล้วการขายหุ้นในครั้งนี้ ก็คือการนำเงินส่วนตัวเข้าไปลงทุนบริษัทในจีน ซึ่งจะส่งผลให้ CBG ได้ประโยชน์เกี่ยวเนื่องทางธุรกิจไปด้วยเช่นกัน
*** ผลประกอบการปีนี้แทบไม่ได้รับผลกระทบโควิด-19
จบเรื่องการขายหุ้นของผู้บริหารไปแล้ว มาต่อกันที่พื้นฐานธุรกิจบ้าง อย่างที่นักลงทุนทราบกันก็คือ งบไตรมาส 1/63 ของ CBG ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เลย เพราะกำไรสุทธิเติบโตไปได้ถึง 106.5% YoY แตะ 800.94 ล้านบาท สาเหตุก็คือยอดขายรวมที่เพิ่มขึ้นจากต่างประเทศ โดยเฉพาะกัมพูชาและเมียนมาที่ทำจุดสูงสุดใหม่ ประกอบกับต้นทุนกระป๋องและหีบห่อลดลงทำให้อัตรากำไรขั้นต้น(Gross Profit Margin)ทำจุดสูงสุดที่ 42.4%
ส่วนแนวโน้มไตรมาส 2/63 บล.หยวนต้า ระบุว่าเบื้องต้นจะทำได้ราวๆ 750 ล้านบาท โต 50% จากช่วงเดียวกันปีก่อนแม้ว่ารายได้เครื่องดื่มบำรุงกำลังในประเทศอาจได้รับผลกระทบ QoQ จากมาตรการปิดเมือง(ล็อกดาวน์) แต่การส่งออกยังเติบโตได้ 5-8% QoQ โดยตลาดเมียนมายังเติบโตจากปี 2562 ยอดขายราว 4 แสนลัง/เดือน ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านลัง/เดือน ส่วนจีนบริษัทเริ่มเห็นคำสั่งซื้อที่ทยอยเพิ่มขึ้นหลังกลับมาเปิดประเทศ
นอกจากนี้เป็นไตรมาสแรกที่มีรายได้ของ C+Lock เข้ามาเต็มไตรมาส ซึ่งมีราคาขายปลีกขวดละ 15 บาทสูงกว่าคาราวบางแดงที่ 10 บาท ทำให้เมื่อรวมกับการเติบโตในต่างประเทศแล้วอาจชดเชยยอดขายเครื่องดื่มบำรุงกำลังในประเทศที่ชะลอได้ นอกจากนี้ C+Lock ยังเป็นสินค้าที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่า คาราบาวแดงถึง 1.8 เท่า และบริษัทจะลดค่าใช้จ่ายทางการตลาดลง QoQ ทำให้มีโอกาสที่กำไรไตรมาส 2/63 อาจดีกว่าไตรมาส 1/63 ได้เช่นกัน ซึ่งจะเป็น Positive surprise
ทั้งนี้ได้ปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 63 เพิ่มขึ้นจากเดิม 5.6% มาเป็น 3,356 ล้านบาท (+39.9% YoY) จากการปรับประมาณการยอดขายของ C+Lock ขึ้นจากเดิม 10 ล้านขวดเป็น 110 ล้านขวด (หากส่งออกได้จะเป็น Upside ต่อประมาณการ) และมีแผนจะออกสินค้าใหม่ในกลุ่ม Functional drinks ช่วงปลายปี และปรับราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 118 บาท เทียบเท่า PER2563 ที่ 35.3 เท่า แนะนำ "ซื้อ"
ส่วนนักวิเคราะห์รายอื่นๆ ประเมินกำไรสุทธิไว้ดังนี้
บล. |
กำไรสุทธิ(ลบ.) |
เปลี่ยนแปลง(YoY) |
เคทีบี |
3,110 |
+24% |
เอเอสแอล |
3,200 |
+27% |
บัวหลวง |
3,385 |
+35% |
หยวนต้า |
3,356 |
+34% |
ทิสโก้ |
3,558 |
+42% |
*** สิ่งที่น่ากังวลก็คือ ราคาหุ้นแม้จะดิ่งมาขนาดนี้ ก็ยังแพง!
การขายหุ้นของผู้บริหารไม่น่ากังวล ขณะที่ผลประกอบการปี 63 ก็ยังโตแรง สิ่งที่น่ากังวลเพียงอย่างเดียวสำหรับ CBG ก็คือราคาหุ้นที่แม้จะปรับลงมาแรงแล้ว ก็ยังถือว่าแพงอยู่ดี เพราะมีอัพไซด์จากราคาเหมาะสมอีกไม่มากนัก แม้หากเทียบ P/E กับค่าเฉลี่ยย้อนหลังจะถือว่ายังต่ำอยู่ก็ตาม
ราคาเหมาะสม CBG ของนักวิเคราะห์แต่ละรายเป็นดังนี้
บล. |
คำแนะนำ |
ราคาเหมาะสม |
โนมูระ พัฒนสิน |
ถือ |
80 |
ธนชาต |
ซื้อ |
96 |
เอเชีย เวลท์ |
ซื้อ |
105 |
ฟินันเซีย ไซรัส |
ซื้อ |
107 |
ทิสโก้ |
ซื้อ |
107 |
บัวหลวง |
ซื้อ |
109 |
คันทรี่ กรุ๊ป |
ซื้อ |
110 |
ซีจีเอส ซีไอเอ็มบี |
ซื้อ |
111 |
เคทีบี |
ซื้อ |
118 |
หยวนต้า |
ซื้อ |
118 |
ทั้งนี้จากการสำรวจข้อมูลในฟังก์ชั่น P/E & P/BV Zone Analysis ของโปรแกรม efin Stock Pick Up พบว่า CBG มีค่า P/E ที่นิยมซื้อขายเฉลี่ยในช่วง 6 ปี ย้อนหลังอยู่ที่ 38 - 52 เท่า ขณะที่ P/E ปัจจุบันซื้อขายอยู่ที่ 33 เท่า แต่หากเทียบ P/BV ในช่วงเวลาเดียวกันซื้อขายอยู่ที่ 6 - 10.50 เท่า ซึ่งปัจจุบันแซงหน้าไปแล้วที่ 11.66 เท่า
นักลงทุนน่าจะวางใจได้ระดับหนึ่งเพราะการขายหุ้นของผู้บริหารครั้งนี้ ส่วนใหญ่นำไปลงทุนต่อยอดในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ CBG แตกต่างจากการนำเงินออกไปใช้เรื่องส่วนตัวโดยไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทเหมือนหุ้นอื่น ๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ซึ่งการขยายตลาดจีนก็ถือว่าน่าติดตามมาก เพราะหากเติบโตได้อย่างเมียนมาและกัมพูชา ก็อาจทำให้ราคาหุ้นตอนนี้ไม่แพงเลย!
0 Response to "CBG ราคาแพง...แสลงใจกว่าเจ้าของขายหุ้น! - efinanceThai"
Post a Comment