คอลัมน์ เปิดมุมมอง
โดย สายธาร หงสกุล กรรมการ บจ. World Express Investments Private Limited สิงคโปร์
หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เสนอให้รัฐบาลออก พ.ร.ก.การสนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Stabilization Fund : BSF) ได้มีผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจการเงินหลายท่าน รวมถึงอดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีต รมว.คลัง และอดีตผู้บริหารชั้นสูง ธปท. ออกมาแสดงความคิดเห็น มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย สิ่งหนึ่งที่ทุกท่านเห็นพ้องต้องกัน คือ การตระหนักในความรุนแรงของวิกฤตทางเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากภาวะโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งกระทบทุกภาคส่วนของประเทศในรูปแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
วิกฤตครั้งนี้ได้สร้างโจทย์ใหม่ให้ผู้มีหน้าที่ดูแลระบบเศรษฐกิจการเงินอย่างที่ไม่เคยประสบมาในอดีต การแก้ปัญหาจึงควรเปิดใจให้กว้าง รูปแบบการแก้ปัญหาควรใช้มุมมองใหม่ให้เข้ากับสถานการณ์ ไม่จำเป็นต้องยึดติดรูปแบบเก่าที่เคยปฏิบัติมา ที่สำคัญคือต้องตั้งอยู่ในหลักการ ความเหมาะสมและเจตนารมณ์ของบทบาทของธนาคารกลาง
การเสียความมั่นใจในสถานการณ์เศรษฐกิจ ประกอบกับความต้องการถือเงินสดท่ามกลางการหยุดชะงักโดยฉับพลันของธุรกิจในวงกว้างได้ นำไปสู่แรงขายที่รุนแรงในตลาดตราสารหนี้ ก่อให้เกิดภาวะการขาดสภาพคล่องอย่างหนัก ซึ่งสามารถจะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่สาหัสยิ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขขึ้นทันท่วงที กล่าวได้ว่าความแตกต่างทางความคิดของผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์แนวทางแก้ปัญหาของ ธปท.นั้น มิได้เป็นเรื่องการไม่เห็นพ้องในความจำเป็นที่ภาครัฐต้องเข้ามาร่วมช่วยแก้ปัญหา แต่เป็นเรื่องของความแตกต่างในแนวทางการแก้ไขว่าควรจะทำอย่างไร จึงให้ได้ผลที่ดีที่สุด มีประสิทธิผล ประหยัดงบประมาณของประเทศ และไม่ทำให้เกิดการครหาในชื่อเสียงและความมั่นใจในสถาบันธนาคารกลาง
การออกมาแสดงความคิดเห็นเป็นการแสดงความห่วงใย เพื่อจะช่วยรักษาผลประโยชน์ให้ประเทศชาติในยามวิกฤต จึงเป็นสิ่งน่าชื่นชม การไม่เห็นพ้องต้องกันในวิธีการเป็นเสมือนกระจกสะท้อนให้ ธปท.มองเห็น แง่คิด ความสงสัยต่าง ๆ อันล้วนแสดงความห่วงใยของประชาชนและผู้มีส่วนร่วม
ในมุมมองของผู้ที่อยู่ในวงการการเงิน การธนาคารต่างประเทศมองเข้ามาในประเทศไทย เห็นได้ชัดเจนว่าปัญหาเศรษฐกิจที่ไทยประสบอยู่นั้น ไม่แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ในประชาคมโลกอันสืบเนื่องมาจากการที่เศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงักเป็นผลจากมาตรการควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งจำเป็นต้องปกป้องรักษาชีวิตของประชากร กล่าวได้ว่าปัญหาที่ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนของไทยกำลังประสบนั้น มิได้มาจากการล้มเหลวของการบริหารงานของภาคธุรกิจ แต่มาจากปัจจัยภาวะแวดล้อม ซึ่งอยู่นอกเหนือความสามารถของผู้บริหารธุรกิจจะควบคุมได้
โจทย์ที่ ธปท.ต้องตอบ คือ จะทำอย่างไรจึงจะรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศไว้ได้ในภาวะเช่นนี้ ทำอย่างไรจะป้องกันไม่ให้ปัญหาของตลาดตราสารหนี้ลามไปเป็นวิกฤตระบบการเงิน กระทบความมั่นคงของสถาบันการเงิน และตลาดเงิน ตลาดทุนอื่น ๆ ในวงกว้าง นับเป็นโจทย์ที่ยาก ซับซ้อน และมีหลายมิติ
มิติแรก คือ ต้องฉับไว ทันเหตุการณ์ รอให้ปัญหาเกิดก่อนไม่ได้ ต้องมีแผนรองรับก่อนปัญหาจะเกิดขึ้น เปรียบได้กับต้องมีระบบดับเพลิงที่ทันสมัยในอาคาร ที่สามารถดับเพลิงได้ทันการ ไม่ใช่รอให้ไฟไหม้แล้วค่อยหาเครื่องมือดับเพลิง หากปล่อยให้ไฟไหม้มีความสูญเสีย แล้วค่อยสร้างอาคารใหม่ ค่าใช้จ่ายและความเสียหายจะสูงกว่ามาก
มิติที่สอง คือ การสร้างความน่าเชื่อถือของมาตรการเพื่อพยุงความมั่นใจของผู้ลงทุน ภาคธุรกิจ และประชาชนให้ได้ พูดง่าย ๆ ต้องทำให้เกิดความเชื่อในสังคมว่าเป็นมาตรการที่ “เอาอยู่”
มิติที่สาม คือ การธำรงไว้ในความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง และป้องกันผลข้างเคียง เช่น การครหาในเรื่องความยุติธรรม ความโปร่งใส และมิให้นำไปสู่ความประมาทชะล่าใจ (moral hazard) แก่ผู้กู้ หรือผู้ออกตราสารหนี้
เห็นได้ว่ามาตรการที่ ธปท.เสนอ พยายามตอบโจทย์ทั้ง 3 มิตินี้ ในมิติของความฉับไว ทันการณ์ ธปท.เห็นสัญญาณของแรงขายในตลาดตราสารหนี้ที่รุนแรงขึ้น และมิได้นิ่งนอนใจ ได้มีการประกาศแถลงข่าวตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค. 2563 ว่า จะมีมาตรการช่วยเหลือขึ้นก่อนที่ปัญหาจะดำเนินไปถึงจุดที่ตลาดอาจหยุดชะงักได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาลูกโซ่ตามมา และลามไปถึงความมั่นใจในสถาบันการเงินอื่น ๆ การเสนอการออก พ.ร.ก.ถือได้ว่ามาจากการคาดการณ์ที่ทันท่วงที มิได้รอให้เกิดวิกฤตขึ้นก่อนจึงเข้าไปช่วยเหลือ
มิติที่สอง คือ การออกมาตรการที่สร้างความมั่นใจว่าทางการสามารถควบคุมปัญหาได้ เรื่องการเข้าไปให้ความช่วยเหลือในตลาดแรกโดยตรง กับผู้ออกตราสาร เป็นข้อที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า การช่วยเหลือในรูปแบบนี้อยู่นอกเหนือหน้าที่ธนาคารกลาง ซึ่งไม่ควรเข้าไปให้กู้ หรือมีส่วนให้กู้โดยตรงกับภาคธุรกิจเอง ควรให้ความช่วยเหลือโดยผ่านสถาบันอื่น เช่น ธนาคารพาณิชย์ หรือธนาคารของรัฐแทน ห่วงใยว่าประเด็นนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาภายหลังได้ ธปท.ได้ชี้แจงว่าการเข้าไปช่วยในตลาดแรกนั้นจำเป็นต้องทำเพื่อแก้ปัญหาในการสร้างความเชื่อมั่นอย่างตรงจุด การเข้าไปช่วยเหลือในตลาดรองซึ่งมีปริมาณธุรกรรมซื้อขายน้อยกว่าในตลาดแรกอาจไม่สัมฤทธิผลดีเท่ากับการช่วยเหลือในตลาดแรก
วัตถุประสงค์หลักของ ธปท.ครั้งนี้ คือ ทำให้ตลาดตราสารหนี้สามารถดำเนินต่อไปได้ ในช่วงที่กลไกตลาดประสบปัญหาอันเนื่องมาจากสภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มจะซบเซาไปอีกพักใหญ่ การช่วยเหลือผู้ออกตราสารหนี้มิได้มีวัตถุประสงค์จะอุ้มผู้กู้ หากเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาของผู้กู้ที่มีศักยภาพ แต่ประสบปัญหาสภาพคล่องชั่วคราวอย่างรุนแรงไปสู่การเลิกจ้างแรงงาน หรือกระทบเศรษฐกิจในวงกว้างขึ้น อาจกล่าวได้ว่ากองทุน BSF เปรียบเสมือนเครื่องดับเพลิง ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้ดับเพลิงโดยตรงที่ต้นไฟ ก่อนไฟจะลามไปทั้งอาคาร
ส่วนประเด็นการตั้งกองทุน BSF แทนที่จะให้ความช่วยเหลือผ่านธนาคารพาณิชย์ หรือธนาคารของรัฐนั้น ธปท.มองเห็นข้อจำกัดของการให้ความช่วยเหลือผ่านธนาคารต่าง ๆ ในแง่ปฏิบัตินั้นการให้เงินกู้ผ่านธนาคารจะใช้เวลาในการพิจารณานานกว่าการช่วยเหลือผ่านกองทุนซึ่งคล่องตัวกว่า นอกจากนี้ มีเหตุผลในแง่ของระบบและการกระจายความเสี่ยง ในสภาวะปัจจุบันธนาคารต่าง ๆก็เจอปัญหาชำระหนี้จากผู้กู้กลุ่มอื่น ๆ อยู่แล้ว เช่น ธุรกิจขนาดเล็กและผู้กู้รายบุคคล การให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ผู้ออกตราสารหนี้ผ่านธนาคารพาณิชย์อาจสร้างภาระในเรื่องการให้สินเชื่อกระจุกตัวอีกด้วย การตั้งกองทุน BSF จึงกระจายภาระความช่วยเหลือนี้ไปยังสถาบันต่าง ๆ รวมทั้งรัฐบาลเอง ไม่ตกหนักอยู่กับสถาบันใดสถาบันหนึ่ง
มิติที่สาม การธำรงไว้ในความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง ในแง่ความบริสุทธิ์ ยุติธรรม โปร่งใสของกระบวนการ และไม่นำไปสู่ความประมาท ชะล่าใจของผู้กู้ การออกแบบโครงสร้างของกองทุน BSF คณะกรรมการ ผู้บริหาร และกฎธรรมาภิบาลของกองทุน จึงสำคัญยิ่ง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์มิติที่สามนี้ การที่กองทุนมีมาตรฐานให้บริษัทผู้ออกตราสารที่จะมาเข้าโครงการต้องมีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับ investment grade และมีแนวโน้มที่จะคงความน่าเชื่อถือนั้นต่อไป รวมทั้งข้อกำหนดให้ผู้ออกตราสารหนี้ต้องหาเงินทุนจากแหล่งอื่นมาก่อนที่จะมาขอความช่วยเหลือจากกองทุน BSF อาทิ การเพิ่มทุน กู้จากแหล่งอื่น ฯลฯ อีกทั้งการคิดดอกเบี้ยที่ไม่ถูกกว่าอัตราตลาด เป็นการส่งสัญญาณชัดเจนให้ผู้ออกตราสารหนี้เห็นว่า กองทุน BSF ไม่ใช่แหล่งซอฟต์โลน แต่เป็นแหล่งที่ผู้ออกตราสารหนี้สามารถมาขอความช่วยเหลือให้สภาพคล่องชั่วคราวได้ในช่วงที่สถานการณ์ไม่ปกติ
ตั้งแต่ได้ประกาศเสนอการออก พ.ร.ก.การสนับสนุนสภาพคล่องฯช่วงหนึ่งเดือนผ่านมา สถานการณ์ของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนมีความผันผวนน้อยลง นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีในระดับแรก ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นความสำเร็จระดับหนึ่งในการพยุงความมั่นใจในตลาด แสดงให้เห็นว่าแนวทางการแก้ปัญหาที่ ธปท.เสนอนั้น ตอบโจทย์ในมิติที่หนึ่ง และมิติที่สองในขั้นต้น แน่นอนว่าหนทางยังอีกยาวไกล ตราบที่วิกฤตโควิด-19 ยังไม่หมดไป การมีกองทุน BSF เตรียมพร้อมไว้ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น สร้างความอุ่นใจว่าหากมีปัญหา ทางการมีมาตรการรองรับ พร้อมจะให้การช่วยเหลือได้ทันท่วงที ความสำเร็จของกองทุน BSF ในการปฏิบัติการนั้นยังต้องเฝ้าดูกันต่อไป มิติที่สาม เรื่องการธำรงไว้ในความน่าเชื่อถือ จึงเป็นภาระที่สำคัญที่ ธปท.ต้องดำเนินต่อไปให้สำเร็จ สมกับความคาดหวังของผู้วิพากษ์วิจารณ์ ให้คำแนะนำ และสาธารณชนทั่วไป
การแก้ปัญหาโดยแนวทางใหม่ ๆ เป็นสิ่งจำเป็นในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงผันผวนรวดเร็ว การออกมาแสดงความคิดเห็นหรือท้วงติงของผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการเงินการธนาคาร ซึ่งไม่คุ้นเคยกับแนวคิดใหม่ นับเป็นปรากฏการณ์ที่ดีเป็นการช่วยกลั่นกรองความคิดที่ ธปท.เสนอมาอีกขั้นหนึ่ง เป็นเพราะสังคมฝากความหวังไว้กับผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. ให้ทำหน้าที่ดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงิน ให้บริสุทธิ์ ยุติธรรม และโปร่งใส เป็นเสาหลักของความน่าเชื่อถือของประเทศชาติ โดยเฉพาะในสถานการณ์ไม่เป็นปกติ ที่มีแนวโน้มจะอยู่กับเราไปอีกพักใหญ่ ๆ
"มองเห็นได้" - Google News
May 23, 2020 at 08:29AM
https://ift.tt/3glSNqD
กองทุน BSF โจทย์ท้าทาย "แบงก์ชาติ" - ประชาชาติธุรกิจ
"มองเห็นได้" - Google News
https://ift.tt/2KEOqs2
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/2A5APrD
Bagikan Berita Ini
0 Response to "กองทุน BSF โจทย์ท้าทาย "แบงก์ชาติ" - ประชาชาติธุรกิจ"
Post a Comment