สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่เหมือน"ภูเขา"ทับหุ้น MINT ในวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ก็คือ 'งบดุลที่ไม่แข็งแรง' ซึ่งลุกลามจนการ 'เพิ่มทุน' ที่เคยเป็นทางเลือกสุดท้ายได้ถูกงัดออกมาเสริมสภาพคล่อง แม้ผู้บริหารมั่นใจว่าการเพิ่มทุนครั้งนี้จะได้รับความร่วมมือจากบรรดาผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่รายย่อยอย่างเรา...ควรจะร่วม "สู้ไปด้วยกัน" หรือ "ถอยก่อน" ดีกว่า?
*** ราคาหุ้นพุ่ง หลังประกาศเพิ่มทุน เรื่องแปลกที่เกิดขึ้นได้ !
ราคาหุ้น บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT เช้านี้เปิดตลาดดิ่งลงไปแตะจุดต่ำสุดที่ 15.50 บาท ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของหุ้นที่ประกาศเพิ่มทุนจดทะเบียน เพราะนักลงทุนคงไม่อยากจะเอาเงินลงทุนไปร่วมหัวจมท้ายกับบริษัทที่มีท่าทีจะไปไม่ไหว...
เพียงแต่ว่าเรื่องแปลกประหลาดก็คือ จู่ๆ ราคาหุ้นก็กลับทิศมาเป็นขาขึ้นเสียอย่างนั้น จนไปแตะระดับสูงสุดของช่วงเช้าที่ 18.20 บาท และปิดตลาดรอบเช้านี้ไปที่ 18.50 บาท เพิ่มขึ้น 1.70 บาท หรือ 10.12% ปริมาณหุ้นที่ซื้อขายเพิ่มขึ้นถึง 488.05% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 5 วันทำการก่อนหน้า
แต่เรื่องนี้ก็พอมีสาเหตุอยู่เหมือนกัน อย่างแรกเลยก็คือ ปัญหางบดุลและสภาพคล่องที่เข้าขั้นวิกฤตของ MINT ได้ถูกแก้ไขไปเปราะหนึ่งนั่นเอง รวมถึงมีแจก MINT-W7 ให้ฟรี ๆ ด้วย
โดยที่วานนี้(18 พ.ค. 63) MINT ประกาศงดจ่ายปันผลงวดปี 62 และขยายวงเงินออกหุ้นกู้ 2.5 หมื่นล้านบาท ที่สำคัญคือการประกาศเพิ่มทุน 1,037,955,941 หุ้น เพื่อรองรับธุรกรรมดังนี้
1.) จัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม(Right Offering) ไม่เกิน 716 ล้านหุ้น ในอัตราส่วน 6.45 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นเพิ่มทุน โดยที่จะขึ้น XR ในวันที่ 8 ก.ค. 63 ราคาเสนอขายคำนวณจากราคาถัวเฉลี่ยในช่วง 7 - 15 วันก่อนหน้าที่จะกำหนดราคา และมีส่วนลดไม่เกิน 15% ของราคาตลาด จะประกาศราคาเสนอขายก่อนหน้าวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับการเสนอขายหุ้น
2.)รองรับการออกและใช้สิทธิแปลงสภาพของ MINT-W7 จำนวน 313,831,156 หุ้น ซึ่งถือเป็นการแจกวอแรนท์ฟรี ๆ โดยไม่คิดมูลค่า อัตราส่วนจัดสรรอยู่ที่ 17 หุ้นเดิมต่อ 1 วอแรนท์ อัตราการใช้สิทธิ 1 ต่อ 1 ที่ราคาตลาด 7- 15 วันก่อนหน้าที่จะกำหนดราคา(แบบเดียวกับ RO ด้านบน)บวกส่วนเพิ่มไม่เกิน 10%
3.)รองรับการปรับสิทธิของ MINT-W6 จำนวนไม่เกิน 8,000,000 หุ้น
*** ทำไม MINT ต้องเพิ่มทุน ?
สาเหตุที่ MINT ต้องประกาศเพิ่มทุน ไม่ต้องย้อนกลับไปไกลเลย เพราะเกิดขึ้นจากวิกฤตโควิด-19 ที่ระบาดเพียงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี่เอง ซึ่งหลักๆ ก็มาจากเรื่องงบดุลของ MINT โดยเฉพาะอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุน (IBD/E) ที่เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งจาก 1.3 เท่าในสิ้นปี 62 มาเป็น 1.6 เท่า ในไตรมาสแรกของปีนี้ ใกล้เคียงกับเพดานของเงื่อนไขการกู้ยืม(Debt covenant) ที่ 1.75 เท่านั่นเอง และด้วยกระแสเงินสดที่ลดลงจากผลกระทบจากการปิดโรงแรมเกือบทั้งหมด ทำให้ประเด็นงบดุลสำหรับ MINT น่ากังวลมาก
การเพิ่มทุนซึ่งเป็นไม้ตายสุดท้ายของ MINT จึงถูกงัดออกมาใช้ ซึ่งก็ถือว่าเหมาะเจาะกับเวลาเช่นนี้อยู่เหมือนกัน เพราะแนวโน้มการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์(Lockdown)ในขณะนี้ และข่าวการทดลองวัคซีนโควิด-19 ที่ได้ผลดีมีความคืบหน้า น่าจะทำให้โรงแรมสามารถกลับมาเปิดบริการได้ในไม่ช้า ส่งผลให้กระแสเงินสดของบริษัทกลับสู่ปกติได้อีกครั้ง การเพิ่มทุนจึงช่วยต่อลมหายใจให้ MINT ไปถึงจุดนั้นได้ก่อนที่จะเกิดวิกฤตจนเกินแก้ไขไปมากกว่านี้
นายดิลลิป ราชากาเรีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม MINT ระบุว่า การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเพิ่มทุนจำนวนประมาณ 10,000 ล้านบาท จะแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 3/63 ซึ่งบริษัทมั่นใจว่าจะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากผู้ถือหุ้นใหญ่ในการจัดหาเงินทุนในครั้งนี้ ซึ่งจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นกลับลงมาอยู่ที่ 1.3 เท่า ภายในสิ้นปี 63 ซึ่งต่ำกว่า Debt covenant ที่อยู่ที่ 1.75 เท่า
*** นักลงทุนรายย่อย ควร 'ถอยก่อน' จะดีกว่า
การใส่เงินเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ต้องเกิดขึ้นแน่นอนอยู่แล้ว ... เพราะคุ้มค่ากว่าการที่จะเห็นบริษัทต้องล้มหายตายจากไป ... แต่สำหรับนักลงทุนรายย่อยอย่างเราๆ ก็เป็นอีกเรื่อง!
เพราะการซื้อหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้อาจจะไม่คุ้มค่าเท่าใดนัก ทั้งในแง่ราคาและปัญหาที่อาจไม่จบเพราะเพิ่มทุนได้เพียง 1 หมื่นล้านบาท แต่ด้วยค่าใช้จ่ายที่ 5 พันล้านบาทต่อเดือนอาจทำให้ MINT ต้องเรียกร้องเงินเพิ่มต่ออีก!
โดยที่ บริษัทหลักทรัพ์(บล.)เคทีบี เปิดมุมมองเป็นลบต่อการเพิ่มทุนในครั้งนี้ อย่างแรกเลยคือจะกดดันราคาหุ้น โดยได้ทำ Sensitivity Analysis กับราคาเพิ่มทุน RO แต่ไม่ได้นำวอแรนท์มาคำนวณ เพราะยังไม่ทราบราคาใช้สิทธิ
ผลออกมาเบื้องต้นคาดว่าราคาเพิ่มทุนในส่วนของ RO จะอยู่ที่ระดับ 14 บาท แต่หากดูราคาย้อนหลัง 14 วันจะอยู่ที่ 19.60 บาท ซึ่งเรามองว่าสูงเกินไป โดยที่ระดับราคาที่ 14 บาท จะทำให้ MINT ได้เงินจากการเพิ่มทุน RO จำนวน 1 หมื่นล้านบาท แม้จะส่งผลให้ Net D/E ลดลงมาอยู่ที่ 1.46 เท่า จากไตรมาสแรกที่ 1.61 เท่า ซึ่งดูผ่อนคลายลง
แต่อย่างไรก็ดี ในแง่ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ไม่รวมค่าเสื่อมต่อเดือนของ MINT อยู่ที่ระดับ 5 พันล้านบาท ทำให้เราเชื่อว่า MINT จะต้องการเงินเพิ่มเติมโดยการกู้เงินอีก ขณะที่เราคาดว่า Net D/E ที่ระดับ 1.75x จะสามารถกู้เงินได้เพิ่มอีก 3 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าจำนวนหุ้นที่เพิ่มทุนทั้งหมดแบบรวม warrant จะเกิด dilution ต่อ EPS ที่ 22%
*** ฝันร้ายของจริง .. อยู่ในไตรมาส 2/63 อาจขาดทุนปกติ 5-8 พันลบ.
การเพิ่มทุนครั้งนี้จะได้ผลดีมาก หากข่าววัคซีน และการคลายล็อกดาวน์เป็นไปตามคาดจริงๆ เพราะจะหนุนให้ผลงานครึ่งปีหลังมีโอกาสฟื้นขึ้นมาชดเชยได้ เพราะไตรมาส 2/63 เรียกว่าสาหัสได้เลย ...
บล.หยวนต้า(ประเทศไทย) ประเมินผลประกอบการในไตรมาส 2/63 เอาไว้ว่า จะขาดทุนหนักขึ้นอีก โดยคาดว่าจะขาดทุนปกติอยู่ที่ 5-8 พันล้านบาท โดยเฉพาะผลกระทบหนัก ๆ ในเดือน เม.ย. และ พ.ค. ดังนั้นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ต้องจับตาของ MINT เลยก็คือการค้นพบวัคซีนรักษาในช่วงหลังจากนี้
ซึ่งหากการเพิ่มทุนข้างต้นไม่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจอีก ก็อาจทำให้ MINT ต้องออกหุ้นกู้เพิ่ม ดัน D/E ขึ้นมาแตะ 1.85 เท่าอีกรอบ
บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า ยังมีการขอออกหุ้นกู้เพิ่มอีก 2.5 หมื่นล้านบาท เราคาดว่า MINT จะขออนุมัติไว้ก่อน แต่จะรอดูเงินสดที่ได้จากการเพิ่มทุนก่อนว่าเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจต่อหรือไม่ และหากยังไม่เพียงพอ MINT ถึงจะทำการออกหุ้นกู้เพิ่มเติม ซึ่งหาก MINT ทำการออกหุ้นกู้เพิ่มราว 1 หมื่นล้านบาท จะส่งผลให้ระดับ D/E เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 1.85 เท่าอีกครั้ง
หากนักลงทุนเชื่อว่าข่าววัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัท Moderna ที่ต้องทดลองเฟสต่อไปอีกในเดือน ก.ค.นี้ สามารถนำมาใช้ได้จริง การเพิ่มทุนสู้ไปกับ MINT ก็ดูเหมือนจะไม่ใช่ความคิดที่แย่นัก .... แต่หากมองว่างบไตรมาส 2/63 จะย่ำแย่กว่าที่คาด และวัคซีนยังไม่สามารถใช้ได้จริงก่อนที่สภาพคล่อง MINT จะกลับมาตึงตัวอีกครั้ง แบบนี้ก็ควรถอยก่อนดีกว่า
0 Response to "MINT เพิ่มทุนฝ่าโควิด...`ร่วมสู้` หรือ `ถอยก่อน` ดีกว่า? - efinanceThai"
Post a Comment