"เพราะเรื่องเพศเป็นเรื่องของทุกคน" ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล วิเคราะห์สาเหตุที่ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์สร้างประวัติศาสตร์ในการรับฟังความคิดเห็นทางเว็บไซต์รัฐสภาด้วยการมีประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นมากกว่า 45,000 คนในเวลาเพียง 3 วัน
ธัญวัจน์ซึ่งประกาศตัวเป็น ส.ส. "กะเทย" เป็นผู้นำการเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งฯ เข้าสู่สภา บอกกับบีบีซีไทยว่านี่ไม่ได้เป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย และเป็นสิ่งที่สะท้อนความจริงว่า สังคมไทยให้ความสนใจ เข้าใจและมองเห็นความไม่เสมอภาคทางเพศมากขึ้น
ประเด็นสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้คือการเสนอขอแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯ เพื่อให้คนทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศหมั้นและสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และให้มีสิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่สมรสในเรื่องต่าง ๆ ตามกฎหมาย โดยให้แก้ไขถ้อยคำในหลายมาตราที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า "สามีและภรรยา" เป็น "คู่สมรส"
รัฐสภาเผยแพร่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้บนเว็บไซต์รัฐสภาเพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 4 ก.ค. ผ่านไปเพียง 3 วัน มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นแล้วกว่า 45,000 คน ในช่วงเย็นวันนี้ (7 ก.ค.) ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดในบรรดาร่าง พ.ร.บ.ที่สภาเปิดรับฟังความคิดเห็นทางเว็บไซต์ทั้งหมด 49 ฉบับ
มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ระบุว่า ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้าน รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนํามาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน
ในร่าง พ.ร.บ. 49 ฉบับที่เข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็น แบ่งเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่ปิดรับฟังความคิดเห็นแล้ว 23 ฉบับ และกำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นอยู่ 26 ฉบับ โดยผู้ที่เข้ามาแสดงความเห็นจะต้องระบุเลขที่บัตรประจำตัวประชาชนและตอบคำถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ในประเด็นต่าง ๆ พร้อมระบุเหตุผล
ร่าง พ.ร.บ.ส่วนใหญ่มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นอย่างมากเป็นหลักสิบ หลายฉบับไม่มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นเลยแม้แต่คนเดียว
ร่าง พ.ร.บ.ที่มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นมากเป็นหลักร้อยและหลักพันมีเพียง 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.รับราชการทหาร ที่เสนอโดยนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกลและคณะ มีผู้แสดงความเห็นแล้ว 2,399 คน และร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต เสนอโดยนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.พรรคก้าวไกล มีผู้แสดงความเห็นแล้ว 879 คน
ธัญวัจน์กล่าวว่าขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าประชาชนเห็นไปในทางใด จนกว่าจะเจ้าหน้าที่จะปิดรับฟังความเห็น ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่า 15 วัน แต่การที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ย่อมเป็นผลดีที่จะทำให้รัฐบาลและรัฐสภาต้องรับฟังเสียงของประชาชนในการพิจารณากฎหมาย
มีอะไรอยู่ในร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งฯ
เว็บไซต์รัฐสภาสรุปสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไว้ว่า "เสนอขอแก้ไขเพื่อให้บุคคลธรรมดาทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศ สามารถทำการหมั้นและสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเมื่อบุคคลธรรมดาได้หมั้นหรือสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้วก็ให้มีสิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องต่าง ๆ รวมถึงการแบ่งมรดกของผู้ตายที่มีคู่สมรส
แก้ไขถ้อยคำ ขอให้มีการแก้ไขถ้อยคำที่บัญญัติว่า "สามีและภรรยา" ที่ปรากฏในหลายมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งฯ เป็น "คู่สมรส" เช่น "ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา" เป็น "ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส" และ "ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา" เป็น "ทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส"
การหมั้น ให้บุคคลเพศเดียวกันหรือต่างเพศซึ่งมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ทำการหมั้นได้ และเสนอกำหนดคำศัพท์ขึ้นใหม่เป็น "ผู้หมั้น" และ "ผู้รับหมั้น" แทนคำว่า "ชาย" และ "หญิง" ส่วนของเรื่องสิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่หมั้นยังคงตามหลักการเดิม
การสมรส ให้บุคคลเพศเดียวกันหรือต่างเพศซึ่งมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ สามารถสมรสกันได้ หรือหากมีเหตุอันสมควรศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้ สำหรับเงื่อนไขการสมรสยังคงหลักการเดิม แต่มีการปรับถ้อยคำจากคำว่า "ชาย" หรือ "หญิง" เป็น "บุคคล" เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการสมรสระหว่างบุคคล เช่น
- บุคคลซึ่งเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมาจะทำการสมรสกันมิได้
- บุคคลจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสไม่ได้
- การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองยินยอมเป็นคู่สมรส
- คู่สมรสต้องอยู่กินกันฉันคู่สมรสและช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูตามความสามารถและฐานะของตน
- การจัดการทรัพย์สิน หนี้สินของคู่สมรส สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส
- การหย่า เหตุหย่า การฟ้องหย่าระหว่างคู่สมรส สิทธิได้รับค่าทดแทน การแบ่งสินสมรส
- การเป็นผู้อนุบาลคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งกรณีศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ
การรับบุตรบุญธรรม ให้คู่สมรสซึ่งเป็นเพศเดียวกันซึ่งจดทะเบียนสมรสโดยชอบด้วยกฎหมายสามารถรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ และให้มีสิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่สมรสด้วยกัน
การรับมรดก กรณีผู้ตายมีคู่สมรส ต้องมีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้ตายกับคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยให้นำเรื่องส่วนแบ่งทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส และคู่สมรสที่ร้างกันหรือแยกกันอยู่โดยยังมิได้หย่ากันตามกฎหมายยังคงมีสิทธิโดยธรรมในการสืบมรดกซึ่งกันและกัน
คำถามในการรับฟังความคิดเห็น
สำหรับคำถามที่ใช้ในการรับฟังความเห็นของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีทั้งหมด 4 ข้อ โดยให้ตอบว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เพราะอะไร และมีช่องให้เขียนข้อเสนอแนะ
1.ควรแก้ไขให้บุคคลไม่ว่าจะเป็น "เพศเดียวกัน" และ "ต่างเพศ" สามารถทำการหมั้นกันได้หรือไม่
2.ควรแก้ไขให้บุคคลไม่ว่าจะเป็น "เพศเดียวกัน" หรือ "ต่างเพศ" สามารถสมรสกันได้ ตามกฎหมายหรือไม่
3. ควรแก้ไขอายุบุคคลที่จะทำการสมรสกันได้ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป หรือไม่
4. ควรแก้ไขให้คู่สมรสทั้งที่เป็นเพศเดียวกันและต่างเพศมีสิทธิ หน้าที่ ความสัมพันธ์ระหว่างกันเหมือนสิทธิ หน้าที่ และความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาหรือไม่
การต่อสู้ของ "ครูธัญ"
ธัญวัจน์ซึ่งหลายคนเรียกว่า "ครูธัญ" จากบทบาทการเป็นครูสอนเต้นของเขาก่อนจะมาเป็น ส.ส. บอกกับบีบีซีไทยว่า การนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เข้าสู่สภาเป็นหนึ่งในภารกิจที่เขาตั้งใจทำเพื่อปกป้องสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพราะตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน การระบุว่าการสมรสและครอบครัวเป็นเรื่องของชาย-หญิงถือเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ
การแก้ไขถ้อยคำในประมวลกฎหมายแพ่งฯ ตามที่กล่าวมาข้างต้นจะทำให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับสิทธิตามกฎหมายเช่นเดียวกับคู่สมรสที่เป็นชาย-หญิง
"การแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะแก้ปัญหาเรื่องความไม่เสมอภาคในทางกฎหมายของผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ และยังเป็นการง่ายสำหรับทุกฝ่าย เช่น หน่วยงานราชการ ตำรวจ หรือเอกชนที่ต้องจัดการเรื่องสวัสดิการต่าง ๆ เพราะกฎหมายอื่น ๆ ก็ใช้คำว่าคู่สมรสอยู่แล้ว รวมถึงประกันชีวิต สัญญาต่าง ๆ ก็ผูกพันถึงคู่สมรสอยู่แล้ว" ธัญวัจน์อธิบาย
ธัญวัจน์ให้ความเห็นถึงการผลักดันร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นความพยายามอีกทางหนึ่งเพื่อให้มีการรับรองสิทธิของคู่รักเพศเดียวกันว่า เขายังคงเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งฯ น่าจะเป็นทางที่ดีและครอบคลุมกว่าการเสนอกฎหมายฉบับใหม่ที่เขาเห็นว่ายังไม่ครอบคลุมสิทธิทั้งหมดของการใช้ชีวิตคู่ เช่น สิทธิในการรักษาพยาบาล การรับสวัสดิการ เป็นต้น อีกทั้งยังอาจสร้างความยุ่งยากในการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเนื่องจากกฎหมายอื่น ๆ ไม่ได้มีการรองรับคำว่า "คู่ชีวิต"
ธัญวัจน์บอกว่าหลังจากปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ร่าง พ.ร.บ.นี้ก็จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะรัฐมนตรี ก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
"ระหว่างนี้เราจะเดินหน้าให้ข้อมูลกับคนที่ยังไม่เข้าใจความหลากหลายทางเพศ ถึงแม้ว่าตอนนี้จะมีคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจในเรื่องนี้ แต่เราต้องเพิ่มจำนวนให้มากขึ้น ไม่อย่างนั้นจะเป็นแค่การสื่อสารระหว่างคนที่เข้าใจกันเองและพูดคุยกันเอง แต่นี่เป็นเรื่องของคนทุกคน เพราะผู้ชายผู้หญิงทุกคนมีเพื่อน มีครู มีญาติ มีเพื่อนร่วมงานที่เป็น LGBT คนที่เป็น LGBT ก็มีเพื่อนที่เป็นผู้ชายเป็นผู้หญิง"
"และเมื่อถึงเวลาอภิปรายในสภา เราก็จะชี้ให้เห็นว่านี่เป็นเรื่องของสิทธิพื้นฐานและชี้ให้เห็นว่าการแก้ไขกฎหมายนี้จะเป็นผลดีกับทุกฝ่ายอย่างไร"
ธัญวัจน์ยอมรับว่าโดยส่วนตัวแล้ว เขามีความหวังลึก ๆ ด้วยว่าการผลักดันการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้จะพิสูจน์ให้สมาชิกรัฐสภาและสังคมมีมุมมองและทัศนคติต่อ ส.ส.กะเทยเปลี่ยนไป เพราะนับตั้งแต่เข้ามาทำหน้าที่ในสภา เขาต้องเผชิญกับ "อคติและมายาคติ" ที่เพื่อนสมาชิกรัฐสภามีต่อกะเทยอย่างเขาไม่น้อย
"คนส่วนใหญ่มักมองกะเทยแค่เป็นสีสัน เป็นความสนุก ซึ่งไม่ได้ผิด เราก็มีความสนุกสนาน แต่เราก็มีเนื้อหาสาระ มีภารกิจสำคัญที่ต้องผลักดัน ความเป็นกะเทยทำให้เราต้องเผชิญกับอคติซึ่งเราต้องทลายกรอบนี้ไปให้ได้ เพื่อให้สภาเห็นสาระที่เราต้องการผลักดันและตระหนักว่าเราเป็นผู้แทนของประชาชน"
"มองเห็นได้" - Google News
July 07, 2020 at 06:44PM
https://ift.tt/31RNKcs
สมรสเท่าเทียม : 3 วัน เกือบ 5 หมื่นคน แห่ให้ความเห็นร่าง พ.ร.บ.แก้กฎหมายเปิดทางแต่งงานเพศเดียวกัน - บีบีซีไทย
"มองเห็นได้" - Google News
https://ift.tt/2KEOqs2
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/2A5APrD
Bagikan Berita Ini
0 Response to "สมรสเท่าเทียม : 3 วัน เกือบ 5 หมื่นคน แห่ให้ความเห็นร่าง พ.ร.บ.แก้กฎหมายเปิดทางแต่งงานเพศเดียวกัน - บีบีซีไทย"
Post a Comment