นิวมีเดีย PPTVHD36 พูดคุยกับ ผศ.ดร.จันทนี เจริญศรี คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เพื่อวิเคราะห์ว่า พฤติกรรมหรือวัฒนธรรมอะไรบ้างของคนไทย ที่อาจเปลี่ยนแปลงไปกลายเป็น New Normal
แต่ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกับคำว่า “New Normal” ก่อน
“New Normal” หรือ “ความปกติแบบใหม่” หมายถึง สถานการณ์ พฤติกรรม การปฏิบัติต่าง ๆ ที่เราไม่คุ้นเคย หรือเคยเป็นสิ่งที่ผิดปกติก่อนหน้านี้แต่กลายมาเป็นมาตรฐานปกติในปัจจุบัน
เดิม New Normal เป็นศัพท์ทางธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ที่อ้างถึงเงื่อนไขทางการเงินหลังจากเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2550-2551 และผลที่ตามมาจากภาวะถดถอยทั่วโลกในปี 2551-2555 คำนี้ถูกนำมาใช้ในหลากหลายบริบทอื่น ๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่า บางสิ่งที่ผิดปกติก่อนหน้านี้สามารถกลายเป็นเรื่องธรรมดาได้และแน่นอนว่าหนึ่งในบริบทดังกล่าว คือการเปลี่ยนไปของพฤติกรรมและวัฒนธรรมบางอย่าง
ร้านทำผม ยืนยันมีมาตรการเข้มป้อง โควิด-19 รอรัฐอนุมัติเปิดร้าน
กลับมาที่บทวิเคราะห์ ผศ.ดร.จันทนี เจริญศรี คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) อธิบายให้เราฟังว่า 7 New Normal ที่จะได้เห็นคือ
New Normal ด้านสุขอนามัย
“ถ้าถามว่าพฤติกรรมอะไรจะเปลี่ยนไปถาวร เรื่องของสุขภาพน่าจะเป็นเรื่องที่คนเกิดความคุ้นเคยแบบใหม่ คนจะหันมาใส่ใจการดูแลสุขอนามัยมากขึ้น มีความตระหนักในเรื่องเชื้อโรค โรคระบาด กันมากขึ้น” ผศ.ดร.จันทนี กล่าว
สอดคล้องกับการวิเคราะห์จากทางฝั่งตะวันตก ที่มองว่าหลังสิ้นสุดวิกฤต โควิด-19 ประชาชนจะลดการปฏิสัมพันธ์ทางกายอย่างการจับมือ หอมแก้ม หรือกอด โดยเฉพาะกับผู้ที่ไม่ได้มีความสนิทสนมกัน
รวมถึงผู้คนน่าจะให้ความสำคัญกับพฤติกรรมการล้างมือ ใช้ เจลแอลกอฮอล์ รักษาสุขอนามัย โดยเฉพาะที่มือ จนอาจกลายเป็นพฤติกรรมที่คุ้นชินใหม่
ศบค.ชี้ชีวิตใหม่ไม่ง่าย รอวัคซีน ต้องอยู่กับโควิดถึง 64
New Normal ด้านการบริโภคอาหาร
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงที่ทุกคนควรอยู่บ้านและไม่ควรออกไปข้างนอกโดยไม่จำเป็นนั้น ธุรกิจการสั่งและจัดส่งอาหารดูจะได้รับความนิยมอย่างสูง จนเกิดคำถามว่า หลังจาก โควิด-19 ผ่านพ้นไป ธุรกิจเดลิเวอรีเหล่านี้ จะรุ่งพุ่งแรงสุดขีดหรือไม่
ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมวิทยา มองว่า ธุรกิจดังกล่าวเกิดขึ้นและมีผู้ใช้บริการมากเนื่องจากตรงกับความต้องการของประชาชน แต่ไม่ว่าจะช่วงไหนก็จะมีประชาชนใช้บริการอยู่แล้ว หลัง โควิด-19 "จึงไม่น่ามีการเติบโตหรือถดถอยอย่างมีนัยสำคัญ"
New Normal ด้านการประกอบอาชีพ
ผศ.ดร.จันทนี ระบุว่า ประเทศไทยเน้นการประกอบอาชีพภาคบริการเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ซึ่งเมื่อเจอกับวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้อาชีพเหล่านี้หายไปเลย เป็นการหายไปของอาชีพแบบทันทีทันใด ซึ่งทำให้ประชาชนปรับตัวในระยะสั้นได้ลำบาก และอนาคตก็ยังไม่แน่ว่าพวกเขาจะกลับมาประกอบอาชีพเดิมได้หรือไม่ หรือต้องเคลื่อนย้ายไปประกอบอาชีพใหม่ ๆ
ในระยะยาวอาจต้องดูกันต่อ เพราะเราพูดถึงผลจาก โควิด-19 อย่างเดียวไม่ได้ ต้องพิจารณามาตรการรัฐต่าง ๆ ว่ามีคนกลุ่มไหนอยู่ในใจบ้างที่จะให้ความช่วยเหลือ
"ผลลัพธ์หลังจากโควิด-19 คลี่คลายจะมาจากความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ส่วน คือสภาพเศรษฐกิจเดิมรวมถึงความเหลื่อมล้ำ กับนโยบายจากภาครัฐ ว่าจะทำให้แต่ละอาชีพปรับตัวได้มากน้อยแค่ไหน" ดังนั้นแล้วจึงยังไม่อาจฟันธงได้ว่าในระยะยาวอาชีพใดจะรุ่งขึ้นมาหรือสูญหายไป
วิกฤต โควิด-19 ส่งผลกระทบแรงงานไทยตกงาน 7 ล้านคน
New Normal ด้านการสร้างตลาดออนไลน์
แต่หากพูดถึงอีกหนึ่งอย่างที่โด่งดังและเป็นพูดถึงในช่วงที่ โควิด-19 ระบาด เห็นทีคงจะหนีไม่พ้นการเติบโตของ “ตลาดออนไลน์” โดยเฉพาะตลาดของสถาบันการศึกษาทั่วประเทศไทยที่ได้รับความสนใจเป็นวงกว้าง
“นึกถึงการสร้างสายสัมพันธ์ใหม่ ๆ ที่อำนวยประยชน์ในด้านเศรษฐกิจ ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดพื้นที่ตลาดแบบใหม่ ซึ่งมีฐานมากจากสายสัมพันธ์เดิม นั่นคือ กรุ๊ปฝากร้าน ไม่ว่าจะเป็น จุฬาฯมาร์เก็ตเพลส มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน หรืออื่น ๆ” ผศ.ดร.จันทนีกล่าว
หมายความว่า ช่องทางออนไลน์ที่เดิมแล้วภาคธุรกิจมองว่าเต็มไปด้วยคู่ค้าคู่แข่งนั้น อาจยังมีช่องว่างที่อยู่ การนำสถาบันมาผูกกับพื้นที่ขายสินค้าอาจจะหมายถึงความไว้วางใจบางอย่าง ที่ตลาดออนไลน์แบบเดิมไม่สามารถมอบให้ได้ อาจจะเป็นแนวทางของเศรษฐกิจแบบใหม่อีกทางหนึ่ง
รวม 12 ตลาดนัดสถาบันการศึกษา อยากฝากร้านกลุ่มไหน ก็ Join เลย
New Normal ด้านสมดุลชีวิต
เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของโควิด-19 หนึ่งในนโยบายสำคัญ คือการทำงานจากที่บ้าน หรือ Work From Home ซึ่งหลายองค์กรประสบความสำเร็จ ประสิทธิภาพในการทำงานไม่ลดลง นั่นทำให้เกิดการพิจารณาว่า หรือแท้จริงแล้ว เราไม่ต้องทำงานที่ออฟฟิศก็ได้
ทำให้มีโอกาสที่องค์กรต่าง ๆ จะเปลี่ยนมาให้พนักงานทำงานทางไกลมากขึ้นแม้จบสถานการณ์ โควิด-19 แล้ว เพราะเห็นได้ว่างานบางอย่างไม่มีความจำเป็นต้องไปออฟฟิศ ขณะที่บางประเภทก็ทำแบบนั้นไม่ได้ ซึ่งอาจจะเห็นปรับหรือเพิ่มสัดส่วนการ Work From Home สลับกับการเข้าออฟฟิศ หรืออาจลดวันเข้าออฟฟิศ จาก 5 วัน เหลือ 4 วัน เพิ่อให้สมดุลชีวิต (Work Life Balance) ดีขึ้น
“ที่ไม่แน่ใจคือ บางคนใช้ชีวิตด้วยความคุ้นเคยแบบเก่า เช่น การเดินทาง ตอนนี้หยุด ทุกคนรู้สึกว่าสบายดี ถนนโล่ง แต่อยู่บ้านสักพักเริ่มขาดชีวิตทางสังคม สภาพแวดล้อมการทำงานอาจไม่โอเค แต่พอกลับไปแบบเดิม ก็เจอรถติด อาจจะคิดว่า สิ่งที่เรารำคาญจะกลับมาอีกแล้วเหรอ”
ดังนั้น แนวโน้มพฤติกรรมที่อาจเกิดขึ้นคือ ประชาชนจะมองหาสมดุลชีวิตมากขึ้น คือต้องการใช้ชีวิตเร่งรีบน้อยลง มีการทำงานที่บ้านสลับกับที่ออฟฟิศเพื่อสร้างสมดุลและสุขภาพจิตที่ดี
“อย่างตัวอาจารย์เอง เมื่อก่อนไม่มีเวลาได้ทำอาหารเช้า ตอนนี้ก็ได้ทำ อยู่บ้านพอสอนนักศึกษาเสร็จ ก็ไปทำสวน แล้วก็กลับไปสอน เซ็นเอกสารบ้าง เขียนหนังสือบ้าง มีสมาธิมากขึ้น มีสมดุลมากขึ้น”ห
New Normal ของการตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป
ในบางองค์กร การเปลี่ยนแปลงบางอย่างสามารถเกิดขึ้นได้อย่างถาวร เพราะมองเห็นความเป็นไปได้จากการนำร่องและทดลองในช่วง โควิด-19 เช่น E-Office คือการทำงานโดยไม่ต้องพรินต์กระดาษ ส่งเอกสารกันผ่านช่องทางออนไลน์หรือโปรแกรมต่าง ๆ ซึ่งหลายองค์กรก็สามารถทำได้ดีจนอาจพัฒนาเป็นนโยบายหลักที่เปลี่ยนลักษณะการทำงานไปอย่างถาวร
“มันทำให้เราเห็นความเป็นไปได้หลายอย่างว่าคนเราทำได้ เมื่อก่อนไม่กล้าลอง ไม่รู้ว่าทำได้ พอตอนนี้ทำได้ ก็แปลว่ามันน่าจะทำได้ตลอดไป มหาวิทยาลัยก็ลดความหนาแน่น ลดการใช้ทรัพยากร ไฟฟ้า กระดาษ”
แม้กระทั่งการสัมภาษณ์เข้ามหาวิทยาลัยจะหายไป ซึ่งก่อนหน้านี้การสัมภาษณ์มันเป็นเชิงพิธีกรรมในหลายคณะหรือมหาวิทยาลัย ไม่มีใครตกสอบสัมภาษณ์เลย อย่างปีนี้ก็ไม่มีสอบสัมภาษณ์ ดังนั้น อะไรที่ก่อนหน้านี้ไม่จำเป็น โควิด-19 อาจทำให้เราได้ทบทวนว่า ที่ผ่านมาเราทำสิ่งไม่จำเป็นหรือเปล่า แล้วเราก็เลิกทำ เป็นโอกาสที่จะเลิกทำไปเลย
New Normal แบบเหลื่อมล้ำ
อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.จันทนี ชี้ว่า ความเปลี่ยนที่อาจเกิดขึ้นอย่างถาวรจนกลายเป็น New Normal นั้น มีความสัมพันธ์กับสภาพเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ และนโยบายจากภาครัฐโดยตรง
“การเกิด New Normal คิดว่าน่าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ของบ้านเรา เราเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำเยอะ เวลาพูด New Normal ต้องระบุว่าเป็นความปกติของใคร ต้องคิดถึงความต่างในเรื่องศักยภาพการปรับตัวค่อนข้างเยอะ”
สิ่งที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำได้อย่างหนึ่งคือ "เรียนออนไลน์" สะท้อนให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนว่า เกิดความไม่เท่าเทียม เพราะเมื่อเรียนทางไกล นักศึกษาบางรายไม่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ไม่มีคอมพิวเตอร์ หรือไม่มีห้องเงียบ ๆ สำหรับสอบปลายภาค
ครู รร.ย่านจรัญฯเผยเด็กไม่มีความพร้อมเรียนออนไลน์
นี่เองที่ทำให้พฤติกรรมบางอย่างไม่สามารถกลายเป็น New Normal ได้ และโครงสร้างบางอย่างในสังคม ยังอาจทำให้เกิด New Normal ที่ไม่ควรเกิดด้วย
อย่างไรก็ตาม รู้สึกว่ารัฐก็ไม่ได้แก้ปัญหาแบบที่มีความเหลื่อมล้ำเป็นจุดตั้งต้น แก้แบบลิงแก้แห ทำแล้วมีปัญหา ก็มาไล่แก้ เห็นได้ชัดผ่านการฆ่าตัวตาย ซึ่งเยอะพอ ๆ กับผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรค โควิด-19 ด้วยซ้ำ แล้วคนกลุ่มไหนบ้างที่ฆ่าตัวตาย มันไม่ได้กระจายเท่าเทียมกันอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าสังคมไทยยังเหลื่อมล้ำ มันก็จะมี New Normal แบบเหลื่อมล้ำ
อาจารย์แนะนำว่า รัฐควรอาศัยช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ แทรกแซงในเชิงนโยบาย โดยเน้นให้ช่วยเหลือแบบเจาะกลุ่มให้ตรงความต้องการ พลิกวิกฤตเป็นโอกาส เพื่อขยับสังคมไทยไปสู่โครงสร้างที่ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน เกิด New Normal แบบเดียวกันทุกคนทุกชนชั้น
"มองเห็นได้" - Google News
April 30, 2020 at 07:58AM
https://ift.tt/3bRC0Zw
7 New Normal ที่อาจได้เห็นในสังคมไทยในวันที่โควิด-19 หายไป - pptvhd36.com
"มองเห็นได้" - Google News
https://ift.tt/2KEOqs2
Bagikan Berita Ini
0 Response to "7 New Normal ที่อาจได้เห็นในสังคมไทยในวันที่โควิด-19 หายไป - pptvhd36.com"
Post a Comment