Search

ต่อศักดิ์ สุขวิมล: ผู้บัญชาการ ตร. สอบสวนกลางคนใหม่ กับคติ "ทำงานในตำแหน่งที่เราได้รับให้ดีที่สุด" - บีบีซีไทย

taiso.prelol.com

พล.ต.ต. ต่อศักดิ์ สุขวิมล

ในขณะที่ พล.อ.อ. สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ปฏิบัติภารกิจสำคัญในฐานะราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว น้องชายของเขา--พล.ต.ท. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ก็กำลังทุ่มเทให้งานที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางที่เขาก้าวขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งสูงสุดคือผู้บัญชาการ (ผบช.ก.)

เมื่อคืนนี้ (24 ก.ย.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ระบุว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ จำนวน 289 ราย โดยนอกจากจะมีชื่อของ พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แล้ว ในลำดับที่ 24 ของประกาศฉบับนี้ปรากฏชื่อของ พล.ต.ต. ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชการตำรวจสอบสวนกลาง

ไม่กี่นาที่ต่อมาเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศสำนักนายกฯ อีกฉบับหนึ่ง เรื่อง พระราชทานยศตำรวจชั้นนายพล "ให้แก่ข้าราชการตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ราชการมาด้วยความเรียบร้อยเป็นผลดีแก่ทางราชการ" ซึ่ง พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ได้เลื่อนยศเป็น "พล.ต.ท."

แม้จะเพิ่งได้รับการผลักดันเป็น ผบช.ก. ในการแต่งตั้งประจำปี 2563 แต่ พล.ต.ท. ต่อศักดิ์ ซึ่งมีอาวุโสน้อยที่สุดลำดับที่ 121 ถูกจับตามองว่าจะได้รับการผลักดันให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นไปอย่างต่อเนื่องโดยมีเส้นชัย "ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ"

แต่ พล.ต.ท. ต่อศักดิ์บอกกับบีบีซีไทยว่าเขาไม่ได้เคยคิดไปถึงขั้นนั้น

"พูดตรง ๆ ว่าผมไม่เคยคิด เพราะมันมีปัจจัยหลายอย่าง อย่างหนึ่งผมไม่ใช่นักเรียนนายร้อย ผมคิดว่าทำงานในตำแหน่งที่เราได้รับให้ดีที่สุดพอ" พล.ต.ท. ต่อศักดิ์ตอบช้า ๆ นิ่ง ๆ ตามประสาคนที่ชอบปฏิบัติธรรม จนได้รับฉายาจากผู้สื่อข่าวสายอาชญากรรมหลายสำนึกว่าเป็น "มือปราบสายธรรมะ"

ทั้ง ๆ ที่เหลืออายุราชการเพียง 4 ปี หากเป็นคนอื่น การได้ก้าวไปติดยศ พล.ต.อ. ถือว่ายากเย็นแสนเข็ญ แต่ทำไมอดีตเซลส์แมนบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ ผู้ทิ้งเงินเดือนร่วมแสนบาท เมื่อ 22 ปีก่อน เพื่อมาสวมเครื่องแบบตำรวจ ถึงได้รับการคาดหมายว่าเส้นทางจะไปถึงจุดสูงสุดในเก้าอี้ผู้นำตำรวจ

เรามาสำรวจเส้นทางความเร็วสูงกัน

จากรองสารวัตรถึงผู้บัญชาการ

16 พ.ค. 2559 พล.ต.ท. ต่อศักดิ์ขยับขึ้นนั่งเก้าอี้ผู้กำกับการเป็นครั้งแรก ในยศ พ.ต.อ. ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวที่เขาครบหลักเกณฑ์ว่าด้วยการครองตำแหน่งตามกฎคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เพราะนับแต่นั้นมา ทุกตำแหน่งที่ขยับขึ้นมา ล้วนแต่ได้รับการเว้นหลักเกณฑ์จาก ก.ตร. ทั้งสิ้น

การเว้นหลักเกณฑ์ทำให้ พล.ต.ท. ต่อศักดิ์ใช้เวลาเพียง 4 ปีกับ 3 เดือนเศษ ในการเลื่อนตำแหน่งจากผู้กำกับการ ยศ พ.ต.อ. มาจนถึงตำแหน่ง ผบช.ก. ยศ พล.ต.ท. ขณะที่คนขึ้นเป็นผู้กำกับการในวาระเดียวกันกับเขา ยังคงนั่งเป็นผู้กำกับการเหมือนเดิมทุกคน

พล.ต.ท. ต่อศักดิ์ยอมรับว่าเขา "มาไกล" แต่ก็ไม่ได้คิดไปไกลกว่านี้

ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป พล.ต.ท. ต่อศักดิ์ ในวัย 56 ปี จะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยการเป็นผู้บัญชาการตำรวจที่อาวุโสน้อยที่สุด กล่าวคือรับราชการมาเพียง 22 ปี เริ่มจากรับราชการในตำแหน่งรองสารวัตรเมื่อ 1 ก.พ. 2541 ปีเดียวกันกับนักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) รุ่นที่ 51 ซึ่ง นรต. รุ่นนี้เกือบ 300 นาย ยังไม่มีใครก้าวขึ้นเป็นรองผู้บังคับการแม้แต่คนเดียว

พล.ต.ต. ต่อศักดิ์ สุขวิมล

ชีวิตข้าราชการตำรวจในช่วงเริ่มต้นของ พล.ต.ท. ต่อศักดิ์ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรโลดโผนหรือโดดเด่น ซึ่งขณะนั้นพี่ชายของเขา พล.อ.อ. สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ดำรงตำแหน่งราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร แล้ว

พล.ต.ท. ต่อศักดิ์เกิดปี 2507 ที่ จ.เพชรบุรี มีพี่น้อง 5 คน เขาเป็นคนสุดท้อง ส่วน พล.อ.อ. สถิตย์พงษ์เป็นคนที่ 2

พล.ต.ท. ต่อศักดิ์บอกกับบีบีซีไทยว่าเขาไม่ค่อยได้เจอพี่ชายบ่อยนัก "เพราะท่านทำงานอยู่ต่างประเทศ"

ปัจจุบัน พล.อ.อ. สถิตย์พงษ์ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพระราชวัง ประธานกรรมการ คณะกรรมการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ประธานกรรมการในคณะกรรมการอำนวยการโครงการจิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. ประธานกรรมการ บมจ. ปูนซีเมนต์ไทย กรรมการและกรรมการสรรหาค่าตอบแทนและบรรษัทภิบาล บมจ. ธนาคารไทยพาณิชย์

อดีตพนักงานบริษัทน้ำมัน

พล.ต.ท. ต่อศักดิ์เรียนจบมัธยมปลายที่โรงเรียนโยธินบูรณะ และจบปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะอยากเป็นปลัดอำเภอ แต่เมื่อจบมาได้เข้าทำงานที่บริษัทน้ำมันคาลเท็กซ์ ก้าวหน้าในหน้าที่การงานมาเรื่อย ๆ จนได้รับเงินเดือน 8 หมื่นบาท พร้อมเงินอื่น ๆ เฉลี่ยเดือนละเกือบ 1 แสนบาท

ตลอดเวลา 7 ปีที่ทำงานเป็นพนักงานบริษัทเอกชน พล.ต.ท. ต่อศักดิ์ไม่เคยละทิ้งความใฝ่ฝันอยากเป็นตำรวจ เขาชอบยิงปืน ออกกำลังกาย เล่นกีฬากลางแจ้ง และยิงปืนแม่นจนติดทีมชาติมาแล้ว

เขาตัดสินใจลาออกจากบริษัทน้ำมัน หันมาสมัครเป็นตำรวจ เข้าอบรมในหลักสูตร "ผู้มีคุณวุฒิทางด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์" เพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร สายสอบสวน (กอต. 4) ในปลายปี 2540

เขาได้รับการบรรจุเป็นรองสารวัตร สังกัดกองกำกับการสายตรวจ กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ หรือ 191 เมื่อ 1 ก.พ. 2541 ในวัย 33 ปีเศษ ซึ่งถือว่าเริ่มต้นเป็นตำรวจด้วยอายุที่มากพอสมควร

สังกัด 191 ได้ไม่นานก็โยกไปอยู่กองกำกับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ หรือหน่วยคอมมานโด กองบังคับการปราบปราม ตั้งแต่เป็น ร.ต.ท.

เป็นรองสารวัตรอยู่ 7 ปีเศษ ครบหลักเกณฑ์ขึ้นเป็นสารวัตรท่องเที่ยว 3 กองกำกับการ 1 ในปี 2548 ก่อนโยกกลับมาเป็นสารวัตรในตำแหน่งผู้บังคับกองร้อย 3 คุมรถวิทยุสายตรวจ กองบังคับการปราบปราม ภาคเหนือทั้งหมด

เป็นสารวัตรอยู่อีก 7 ปีก็ขยับเป็นรองผู้กำกับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษในปี 2555 หลังจากนั้นอีก 4 ปีเศษ เขาก็ขยับขึ้นเป็นผู้กำกับการเต็มตัวในหน่วยเดิม

พล.ต.ต. ต่อศักดิ์ สุขวิมล

ตำแหน่งต่อจากนั้นมา เขาได้รับการ "ยกเว้นหลักเกณฑ์" จาก ก.ตร. อย่างต่อเนื่อง ดังนี้

  • เดือน มี.ค. 2561 ได้รับการยกเว้นหลักเกณฑ์ขึ้นเป็นรองผู้บังคับการกองปราบปราม
  • เดือน ต.ค. 2561 ได้รับการยกเว้นหลักเกณฑ์ขึ้นเป็นผู้บังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ทั้ง ๆ ที่หลักเกณฑ์วางไว้ต้องเป็นรองผู้บังคับการไม่ต่ำกว่า 5 ปี
  • เดือน ต.ค. 2562 ได้รับการยกเว้นหลักเกณฑ์ขึ้นชั้นเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดยเป็นผู้บังคับการอาวุโสน้อยสุดจากรองผู้บังคับการทั้งหมดกว่า 400 นาย ไม่ต้องรอครบหลักเกณฑ์ 2 ปีตามกฏ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้ง

และในเดือน ก.ย. 2563 พล.ต.ท. ต่อศักดิ์ได้รับการแต่งตั้งเป็น ผบช.ก. โดยครบหลักเกณฑ์ เพราะ ก.ตร. กำหนดไว้เพียงว่ารองผู้บัญชาการจะเลื่อนขึ้นผู้บัญชาการต้องเป็นรองผู้บัญชาการมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี

แต่หากนับอาวุโส พล.ต.ท. ต่อศักดิ์ก็อยู่ในลำดับสุดท้ายคือ 121

"ไม่เด็ดยอดเอาผลงาน"

พล.ต.ท. ต่อศักดิ์เปิดเผยกับบีบีซีไทยถึงความตั้งใจและนโยบายการทำงานในตำแหน่ง ผบช.ก. ว่าเขาอยากให้ บช.ก. เป็น "หมอเฉพาะทาง" ที่เชี่ยวชาญด้านการสอบสวน และจะไม่เป็นหน่วยงานที่ "เด็ดยอดเอาผลงานจากหน่วยงานในพื้นที่"

"ผมรับราชการมา 21 ปี อยู่ บช.ก. มานาน เพราะฉะนั้นผมรู้นโยบายดีตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสั่ง เรียกว่าไม่ต้องไหว้ครู ทำงานได้เลย" เขาบอก

นอกจากนั้นเขาจะเน้นงานป้องกันอาชญากรรมโดยเฉพาะอาชญากรรมเกี่ยวกับชีวิตและทรัพย์สินที่มีผลกระทบต่อประชาชน

"เรื่องมือปืนรับจ้าง ผู้มีอิทธิพล ตรงนี้ไม่ได้เลย ผมถือว่าอะไรที่ทำให้พี่น้องประชาชนเดือดร้อนต้องลงไปดู ต้องมีการปิดล้อมตรวจค้นซุ้มมือปืน ตรงไหน-จังหวัดไหนที่มีอาชญากรรมมาก มีคดีอุกฉกรรจ์เยอะ ๆ จะต้องลงไป"

เขาประทับใจการทำงานของ พล.ต.ท. ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ อดีต ผบช.ก. ซึ่งปัจจุบันติดยศ พล.อ. สังกัดหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งได้ทำให้ บช.ก. เป็นเหมือน "ทัพหลวง" ที่ลงไปสอบสวนคลี่คลายคดีอุกฉกรรจ์ที่เกินขีดความสามารถของตำรวจท้องที่

"เราเป็นเหมือนทัพหลวง ลงไปมันต้องจบ แต่เราจะไม่ไปเด็ดยอดผลงานของพื้นที่เขา เราจะไม่ทำ เราจะเป็นหน่วยสนับสนุนพื้นที่ ไม่ใช่หน่วยพระเอก เราทำงานร่วมกัน เสร็จแล้วเราก็ถอน ให้พื้นที่เป็นตัวหลัก เราแค่หน่วยสนับสนุน บูรณาการร่วมกัน" พล.ต.ท. ต่อศักดิ์กล่าว

พล.ต.ต. ต่อศักดิ์ สุขวิมล
2px presentational grey line

รู้จัก บช.ก.

กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ถือเป็นกองบัญชาการสำคัญ เพราะมีอำนาจสืบสวนสอบสวนคดีอาญาทั่วราชอาณาจักร มีกองบังคับการรวม 12 กองบังคับการ ประกอบด้วย

  • กองบังคับการอำนวยการ
  • กองบังคับการปราบปราม
  • กองบังคับการตำรวจทางหลวง
  • กองบังคับการตำรวจรถไฟ
  • กองบังคับการตำรวจน้ำ
  • กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  • กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์
  • กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ
  • กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ
  • กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค
  • กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
  • กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ

ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางนับตั้งแต่ปี 2494 เป็นต้นมา มีทั้งหมดถึงปัจจุบัน 35 คน ในจำนวนนี้ 6 คน ก้าวไปถึงอธิบดีกรมตำรวจและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประกอบด้วย พล.ต.ท.พจน์ เภกะนันทน์ พล.ต.ท. เภา สารสิน พล.ต.ท. ประทิน สันติประภพ พล.ต.ท. ประชา พรหมนอก พล.ต.ท. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส และ พล.ต.ท. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง

ขณะที่คนอื่น ๆ ล้วนแล้วแต่ชื่อเสียงก้องวงการสีกากี เช่น พล.ต.ท. ชุมพล โลหะชาละ พล.ต.ท. เสมอ ดามาพงศ์ พล.ต.ท. บุญชู วังกานนท์ พล.ต.ท. ธนู หอมหวน พล.ต.ท. อัยยรัช เวสสะโกศล พล.ต.ท. ล้วน ปานรศทิพ พล.ต.ท. วงกต มณีรินทร์ พล.ต.ท. ธานี สมบูรณ์ทรัพย์

แต่ที่โด่งดังสุดในยุคหลังหนีไม่พ้น พล.ต.ท. พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ที่เป็น ผบช.ก. ในปี 2553-2557 ซึ่งถือว่ายาวนานติดกลุ่มคนที่อยู่ตำแหน่งนานเกิน 4 ปี ที่มีอยู่ไม่กี่คนเท่านั้น จะเป็นรองก็เพียง พล.ต.ท. จำรัส มัญฑุกานนท์ (2502-2509) และ พล.ต.ท. หลวงแผ้วพาลชน (2498-2502)

พล.ต.ท. พงศ์พัฒน์ถือเป็นนายตำรวจที่ได้รับการสนับสนุนจาก "อำนาจพิเศษ" นับตั้งแต่ขึ้นเป็นผู้บังคับการกองปราบปราม ด้วยการยกเว้นหลักเกณฑ์

เมื่อขยับเป็นผู้ช่วย ผบช.ก. รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวน กระทั่งขึ้นเป็น ผบช.ก. ก็ล้วนแต่ได้รับการยกเว้นหลักเกณฑ์จาก ก.ตร.ทั้งสิ้น

กระทั่ง 21 พ.ย. 2557 ฟ้าก็ผ่า พล.ต.ท. พงศ์พัฒน์กับเครือข่าย ถูก พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. เพื่อนร่วมรุ่นสั่งย้ายไปประจำศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติกลางดึก ก่อนจะถูก ดำเนินคดีในข้อหาเกี่ยวกับความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับสินบนโดยแอบอ้างสถาบันเบื้องสูง ความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน และความผิดฐานรับของโจร

เขาถูกสั่งให้ออกจากราชการ และถูกศาลตัดสินจำคุก 36 ปี 3 เดือน ต่อมามีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ถอดออกจากยศตำรวจและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกชั้นตราคืน ปัจจุบันยังถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ

2px presentational grey line

เส้นทางสู่ ผบ.ตร.?

ผู้สื่อข่าวสายตำรวจหลายรายเห็นตรงกันว่า ในปี 2564 พล.ต.ท. ต่อศักดิ์ น่าจะได้รับการสนับสนุนเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. และในปี 2565 จะได้รับการสนับสนุนเป็น รอง ผบ.ตร. เพื่อไปต่อแถวเป็น ผบ.ตร. ในปี 2566

และหลัง พล.ต.ท. วิสนุ ปราสาททองโอสถ และ พล.ต.ท. ดำรงศักดิ์ กิตตประภัสสร์ คนใดคนหนึ่ง ที่จะไปเบียดชิงเก้าอี้ ผบ.ตร. ในปี 2565 เกษียณอายุราชการในปี 2566 ถึงวันนั้น พล.ต.ท. ต่อศักดิ์ จะเป็นแคนดิเดตรับไม้ต่อเป็น ผบ.ตร.ไปถึงปี 2567 โดยไม่มีใครขุ่นข้องหมองใจ

เพราะแคนดิเดต ณ เวลานี้ 2-3 นายได้ลุ้นเก้าอี้ ผบ.ตร. ทั้งในปี 2565 ปี 2566 จึงเป็นโอกาสทองของ พล.ต.ท. ต่อศักดิ์ ผู้สมถะ ไม่นิยมชมชอบการออกสื่อ แต่นิยมการทำบุญ เพราะคนที่เหลือที่มีสิทธิได้ลุ้นเก้าอี้ ผบ.ตร. ในขณะนี้ ล้วนแต่ไปเกษียณหลังปี 2567 ทั้งหมด

การคาดการณ์นี้จะเป็นจริงหรือไม่ อีกไม่นานคงได้เห็นกัน

Let's block ads! (Why?)



"ลงไป" - Google News
September 25, 2020 at 08:55AM
https://ift.tt/33VF7wZ

ต่อศักดิ์ สุขวิมล: ผู้บัญชาการ ตร. สอบสวนกลางคนใหม่ กับคติ "ทำงานในตำแหน่งที่เราได้รับให้ดีที่สุด" - บีบีซีไทย
"ลงไป" - Google News
https://ift.tt/2W5r8kp
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/2A5APrD

Bagikan Berita Ini

0 Response to "ต่อศักดิ์ สุขวิมล: ผู้บัญชาการ ตร. สอบสวนกลางคนใหม่ กับคติ "ทำงานในตำแหน่งที่เราได้รับให้ดีที่สุด" - บีบีซีไทย"

Post a Comment

Powered by Blogger.