วันเสาร์ ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2563, 06.00 น.
เมื่อผู้คนไม่เชื่อถือในตัวสื่อฯ เขาก็จะข้ามสื่อฯ ไปเลย ผู้ทำอาชีพสื่อฯจึงต้องปรับตัว ต้องทำให้สังคมเชื่อถือ และมองเห็นประโยชน์ของสื่อฯ
สื่อมวลชนมีความสำคัญกับสังคม เพราะสื่อฯ ทำหน้าที่ให้ข้อมูลและแจ้งข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัย นำคุณไปสนทนากับ ศ.ดร.ปาริชาตสถาปิตานนท์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงสื่อฯ ของบ้านเราในยุคที่คนจำนวนไม่น้อยไม่ให้ความสำคัญกับสื่อฯ หลัก
อาจารย์ครับ ทุกวันนี้อาจารย์มีมุมมองอย่างไรกับสื่อฯ ของบ้านเราบ้างหลายคนบอกว่าเดี๋ยวนี้ไม่ดูสื่อฯ หลักแล้ว เพราะมีแต่ความเห็น อาจารย์มีมุมมองกับคำวิพากษ์ดังกล่าวอย่างไรบ้าง
ดร.ปาริชาต : ทุกวันนี้ดิฉันยังดูข่าว ดูทั้งข่าวไทยและเทศตลอดโลกทุกวันนี้มันเปิดกว้างขึ้น เราดูข่าวต่างๆได้จากทุกที่ทั่วโลก สามารถดูเวลาไหนก็ได้ เพราะดูย้อนหลังได้ และเลือกดูประเด็นข่าวที่เราสนใจได้ด้วย นอกจากนั้นเรายังเลือกได้ว่าจะดูใคร ฟังใคร หรือแชร์ข้อความจากใครที่เราชื่นชอบและเห็นด้วยได้ ส่วนมุมมองต่อสื่อฯ ของบ้านเราก็ต้องบอกว่ารายการข่าวแต่ละรายการก็มีจุดยืนของเขา มีผู้ชมและผู้สนับสนุนต่างกันไป จึงต้องดูด้วยว่าแต่ละรายการมีจุดยืนอย่างไร ซึ่งตรงนี้สัมพันธ์กับฐานการตลาดของกลุ่มผู้ชมและสัมพันธ์กับสปอนเซอร์อย่างเช่น รายการจำพวกใส่สีตีไข่ก็เป็นbusiness model แบบหนึ่ง ซึ่งยังมีอีกหลาย business model ของการทำรายการข่าว เพราะงานข่าวก็คืองาน creative ที่ต้องเน้นการสร้าง contentเพียงแต่ว่าอยู่กับการเลือกหยิบ contentจากมุมมองด้านไหน และของใครบางคนก็เลือกการเล่าข่าว บางคนก็เลือกการนำเสนอด้วยหลักฐานที่ชัดเจนมีแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ ตรงนี้จึงขึ้นกับชนิดของรูปแบบการนำเสนอ ซึ่งก็มีต่างกันไป
ข่าวต้องมีสาระ และต้องน่าเชื่อถือ และต้องมีประโยชน์ต่อสาธารณชนใช่ไหมครับ
ดร.ปาริชาต : แน่นอนค่ะ ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า journalism ซึ่งมีความสัมพันธ์ journey คือการเดินทางเพื่อติดตามเรื่องราวต่างๆ เพื่อนำเสนอให้เห็นเป็นภาพในการรับรู้ของผู้คน และเกิดเป็นผลตามมาว่าใครควรทำอะไรในเรื่องใดที่มีความสำคัญ และแยกแยะได้ว่าเรื่องใดไม่สำคัญต่อสังคม
มีผู้วิพากษ์ว่ารายการข่าวบ้านเรามีแต่ความเห็น หลายคนไม่เชื่อว่านี่คือข่าว หลายคนยังวิพากษ์ด้วยว่าคนที่อ้างว่าทำรายการข่าวแต่กลับทำตัวเป็นผู้สั่งสอนคนดูคนฟัง จนมีคำพูดตลกๆ ว่า นึกว่านั่งฟังพ่อแม่มาสั่งสอน อาจารย์มีความเห็นอย่างไรกับรายการข่าวชนิดนี้ครับ
ดร.ปาริชาต : ยังไม่อยากรีบตัดสินแต่อยากให้ศึกษาก่อน แต่ต้องดูที่รากเหง้าสังคมไทยด้วย สังคมไทยเป็นสังคมที่ชอบสั่งสอนจริงไหม รากฐานการผลิตชุดความเชื่อ ชุดความคิดที่ส่งต่อออกมาในสังคม ให้ดูในครอบครัวก่อนว่าเป็นสังคมแบบคุณพ่อแสนรู้ คุณแม่รู้ดี คุณลูกคือผู้เงียบ ใช่ไหม ถ้าพื้นฐานวัฒนธรรมแบบนี้มาจากบ้าน แล้วถูกส่งต่อไประบบโรงเรียนและระบบการทำงาน แน่นอน มันก็คงส่งต่อเข้าระบบการนำเสนองานข่าวด้วย จึงไม่แปลกที่เราได้เห็นว่ามีนักข่าวสวมหมวกของผู้เชี่ยวชาญ แล้วหยิบประเด็นต่างๆ มาแล้วก็มีคำวิพากษ์วิจารณ์ได้ แล้วก็เกิดกระบวนการอีกอันหนึ่งคือพวกหมอความ ที่เมื่อเกิดการพาดพิงไปถึงใคร ก็จะมีการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อไป แต่ถ้าเราอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เราก็ต้องดูไปที่ผู้บริโภค เพราะเป็นกลุ่มสำคัญ ผู้บริโภคมีเครื่องมือที่จะแสดงออกได้ว่าเขาชอบหรือไม่ชอบรายการต่างๆ เขาสามารถเข้าไป comment ได้โดยผ่านช่องทางการใช้Social Media หลากหลาย สามารถตั้งประเด็นกลับไป สามารถติดตามดูว่านักข่าวเป็นอย่างไร และสามารถเรียกร้องให้องค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลเข้าไปแก้ปัญหา ผู้บริโภคมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนกระบวนการทำข่าวได้ เปลี่ยนนักข่าว เปลี่ยนรายการได้ ผู้บริโภคคือผู้เฝ้าระวัง และทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนหรือคัดค้านรายการต่างๆ ได้ นี่คือตัวสำคัญที่จะตอบโจทย์กับสปอนเซอร์ได้ว่ามีคนเหล่านี้จริงๆ และจะเป็น business model สำหรับงานข่าวในอนาคต
อีกสิ่งที่สาธารณชนตั้งคำถามคือการรายงานข่าวในยุคนี้ไม่ต้องมี scriptแล้วหรือ ทำไมผู้ทำรายการข่าวจึงออกความเห็นกันมากมาย เรื่องบางเรื่องที่มาจาก clip สามารถพูดลากยาวไปตั้งครึ่งค่อนชั่วโมง หลาย clip ที่นำมาเพื่อใช้พูดลากยาวไม่มีการตรวจสอบที่มาด้วย แต่ที่น่าประหลาดคือบางรายการทำ graphic ประกอบข่าวอาชญากรรมแสดงให้เห็นการก่อเหตุทุกขั้นตอน นี่มันเกิดอะไรขึ้นกับรายการข่าวยุคนี้ครับ
ดร.ปาริชาต : ต้องบอกว่านี่คือการลงทุนในธุรกิจ การทำข่าวคือการลงทุน ถ้าเขาสามารถบริหารจัดการให้ต้นทุนการทำงานต่ำ แล้วทำให้เกิดกำไรสูง แล้วข่าวที่เขาทำนั้นสามารถส่งผลกระทบได้ในวงกว้าง เขาก็จะเลือกแบบนั้น ลองคิดดูว่าการทำข่าวนอกสถานที่แต่ละข่าวต้องลงทุนมากเพียงใด ค่าจ้างช่างกล้องทีวีค่าทีมงาน แล้วยังมีการประสานงาน ซึ่งคิดเป็นเงินจำนวนไม่น้อย แต่ถ้าใครสามารถค้นหาเอาเรื่องต่างๆ มาเล่าแล้วทำให้เขากลายเป็นคนที่มีความน่าเชื่อถือ กลายเป็นอาชีพใหม่ขึ้นมาโดยไม่ต้องลงทุนมาก ก็จะมีคนทำตามๆ กัน แต่เรื่องนี้มันอันตรายมากต่อวงการวิชาชีพนักข่าว ถ้าเป็นแบบนี้มากๆ ก็จะกลายเป็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนในอุตสาหกรรมการทำข่าว การทำข่าวแบบเดิมๆ กลายเป็นตกยุคไป แล้วการทำข่าวแบบนี้กลับขึ้นมาแทน จนทำให้ในที่สุดเมื่อคนจำนวนมากหันไปสนใจเรื่องแบบนี้ ก็จะทำให้การทำข่าวที่ต้องลงไปเสาะหาข้อมูลกันอย่างจริงๆ จังๆ หมดไปคนก็จะหันไปตามดูเรื่องที่คนอื่นๆ โพสต์หรือแชร์กัน แล้วก็บริโภคสิ่งเหล่านี้ จนที่สุดการทำข่าวที่ต้องลงไปเจาะลึกหาข้อเท็จจริงก็ถูกละเลยไปนี่คือความน่ากลัว
มีทางออกของปัญหาที่เรากำลังคุยกันไหมครับ แน่นอนว่าสื่อฯ คือ ธุรกิจ ต้องเอาตัวรอดให้ได้ แต่สื่อฯก็ต้องสำเหนียกว่าตนเองมีหน้าที่สำคัญต่อสังคมด้วย จะทำหน้าที่โดยปราศจากความรับผิดชอบไม่ได้
ดร.ปาริชาต : ทางออกอยู่ที่ตัวของเราเองและผู้บริโภคสื่อฯ และต้องหันไปบริหารจัดการการผลิตนักข่าวที่จะออกสู่สังคมด้วย ในฐานะนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ โดยเฉพาะในภาควิชาวารสารศาสตร์และสารสนเทศก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เราทราบว่าผู้เสพข่าวต้องการภาพที่ชัดเมื่อเสพข่าว ภาพที่ชัดมาจากการประมวลข้อมูลและสถิติต่างๆ และผ่านการวิเคราะห์ จึงทำให้ภาพที่นำเสนอกลายเป็นภาพที่ผู้รับสารเห็นแล้วเข้าใจได้ทันที เรากำลังให้ความสำคัญกับ data journalism ที่ช่วยให้ภาพเป็นที่ประจักษ์ชัดโดยนำเอาทักษะการทำข่าว การรายงานข่าว การเขียนข่าวมาเป็นตัวเชื่อมร้อยให้เรื่องราวชัดเจน ผู้คนดูแลเข้าใจได้ง่าย ทุกวันนี้มีความเปลี่ยนแปลงในการทำงานข่าวมากงานข่าวเป็นวิชาชีพที่ไม่จำเป็นต้องทำกับสำนักข่าวใหญ่ๆ เท่านั้น เพราะมี business model ใหม่ที่เกิดขึ้น โดยทุกคนสามารถร่วมมือกันทำงาน และสามารถเป็นเจ้าของสำนักข่าวได้ และมี character เฉพาะของตัวเอง สามารถบริหารต้นทุนการทำงาน และคิดคำนวณกำไรได้ แนวทางนี้กำลังเกิดขึ้น ซึ่งทำให้ทั้งตัวคนทำข่าวและสังคมได้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งเรื่องนี้เรากำลังทำวิจัยและพัฒนาค้นคว้าควบคู่ไปกับการเรียนการสอนนิสิตในยุคนี้
สมัยผมทำข่าวเมื่อ 30 กว่าปีที่ผ่านมา เราต้องทำข่าวโดยไปสัมภาษณ์แหล่งข่าวต่างๆ เพื่อให้ได้มุมข่าวครบถ้วน แต่เดี๋ยวนี้หาข่าวผ่าน Facebook ผ่าน Instagram ไม่มีการตั้งคำถามตอบโต้กันระหว่างนักข่าวกับแหล่งข่าว แต่เรื่องแบบนี้กลับกลายเป็นเนื้อข่าวได้ ตกลงจะวิจารณ์ใครดีระหว่างนักข่าวกับบรรณาธิการข่าว
ดร.ปาริชาต : วิจารณ์ทุกฝ่ายเลยค่ะ อย่าลืมว่าการทำข่าวแบบนี้ถ้าหากไปเจอระบบคอร์รัปชั่นเข้าจะเกิดอะไรตามมา สมมุติว่าบริษัทหนึ่งมีทีมพีอาร์ที่สนิทกับนักข่าวแล้วขอให้นักข่าวช่วยลงข่าวด้านดีของบริษัท เรื่องนี้เกิดมาจากความสัมพันธ์ สิ่งนี้ก็ทำให้เนื้อหาข่าวอาจถูกบิดเบือนไปจากความจริงเพราะมองเพียงด้านเดียว แต่เรื่องนี้บรรณาธิการข่าวอาจไม่รู้ก็ได้ แต่ถึงแม้ไม่มีเรื่องคอร์รัปชั่นด้านตัวเงิน แต่ในเชิงของนโยบายข่าวก็ถูกกระทบแล้ว เพราะขาดความน่าเชื่อถือ เมื่อสังคมไม่เชื่อถือนักข่าว ไม่เชื่อถือข่าว สังคมก็ข้ามนักข่าวและตัวข่าวไป ในยุคที่หลายคนบอกว่าโลกเปิด โลกไร้พรมแดนแล้วนักข่าวคอยตามข่าวคนอื่นจากFacebook จาก Twitter แล้วนำมาทำข่าวนี่ก็เป็นอันตรายเช่นกัน เพราะเราทำข่าวเพียงขาเดียว คือตามเขา แต่เราไม่สามารถทำข่าวอีกขาหนึ่งได้ คือขาที่เราจะส่งเนื้อหาของเราออกไปให้สังคมอื่นๆ รับรู้ เราจึงต้องทำข่าวให้สังคมอื่นๆรับรู้เรื่องของเราด้วย ไม่ใช่เอาแต่ข้อมูลของคนอื่นมาเขียนเท่านั้น
เดี๋ยวนี้คนจัดรายการข่าวชอบพูดเอง สรุปเอง ไม่ต้องเชิญผู้รู้ในเรื่องนั้นๆ มาให้ความเห็น จนมีคำถามว่าผู้จัดรายการข่าวรู้ไปเสียทุกเรื่องจริงหรือ อาจารย์มีมุมมองเรื่องนี้อย่างไรครับ
ดร.ปาริชาต : บ้านเรามีคำว่านักเล่าข่าว หรือเต้าข่าวใช่ไหม นี่อาจจะเป็นจริตของคนในสังคมไทยหรือเปล่าที่ชอบดูเรื่องแบบนี้ เราจึงเห็นว่ามีคนที่ดูเหมือนมีชื่อเสียงโด่งดังในวงวิชาชีพอื่นกระโจนเข้ามาเป็นนักเล่าข่าวกันมากมายหลากหลายสไตล์ สำหรับเรื่องนี้หากมันยังดำเนินต่อไปได้ คือคนเล่าข่าว คนผลิตcontent และสปอนเซอร์ รวมถึงทางสถานีนั้นๆ และสำนักข่าวนั้นๆ รวมถึงตัวผู้รับสาร ผู้ติดตามยังคงชอบวิธีการนำเสนอแบบนี้ เราก็ยังต้องได้เห็นรูปแบบรายการเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆเพราะมันเป็น ecosystem ของสื่อฯ กับสังคม
ทำอย่างไรให้ข่าวในบ้านเรามีความน่าเชื่อถือมากกว่าที่เป็นอยู่ครับ
ดร.ปาริชาต : ต้องถามตัวเองว่าเราอยากรู้อะไร เรามีตัวตนเช่นไร และอะไรคือประโยชน์ที่จะเกิดกับสังคมและประชาชน คนเราคงไม่ต้องการรับรู้ข่าวร้ายๆ ตลอดเวลา แต่เมื่อมีข่าวร้ายๆ เกิดขึ้น มันจะมีทางออกให้สังคมอย่างไร นโยบายจะออกมาในรูปใด จะแก้ปัญหาร้ายๆ ได้อย่างไร และที่สำคัญคือทุกคนต้องช่วยกันป้องกันและตรวจสอบข่าวปลอม ต้องช่วยกันเปิดโปงแหล่งกำเนิดข่าวปลอม การปล่อยให้มีข่าวปลอมมากๆ มันจะทำให้ข่าวหมดความน่าเชื่อถือและเป็นตัวทำลายระบบข่าวสาร นักข่าวจึงต้องมีหน้าที่ตรวจสอบข่าวด้วยไม่ปล่อยให้ข่าวปลอมหลุดรอดออกมา แต่จะให้นักข่าวรับหน้าที่นี้ฝ่ายเดียวคงไม่ได้ ต้องมีความร่วมมือจากทุกฝ่ายโดยใช้ระบบเทคโนโลยีไอทีเข้ามาช่วยด้วยเราต้องทำให้ข่าวคือความจริง เพราะความจริงเป็นเรื่องสำคัญของสังคม
คุณสามารถพบรายการดีที่ครบครันด้วยสาระและความบันเทิง รายการแนวหน้าวาไรตี้ ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 16.00-16.25 น. ทางโทรทัศน์ TNN 2 ช่อง 784 ดิจิทัลทีวี หรือ True Visions 8 และชมรายการ ย้อนหลังได้ที่ YouTubeแนวหน้าวาไรตี้
"มองเห็นได้" - Google News
July 25, 2020 at 06:00AM
https://ift.tt/30I07G0
สังคมและสื่อฯ สะท้อนกัน หากอยากได้สื่อฯ ดีต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน - หนังสือพิมพ์แนวหน้า
"มองเห็นได้" - Google News
https://ift.tt/2KEOqs2
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/2A5APrD
Bagikan Berita Ini
0 Response to "สังคมและสื่อฯ สะท้อนกัน หากอยากได้สื่อฯ ดีต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน - หนังสือพิมพ์แนวหน้า"
Post a Comment